Quantcast
Channel: ศูนย์ข่าวทำเนียบรัฐบาล
Viewing all 1192 articles
Browse latest View live

สถาบัน Woodrow Wilson ชื่นชมนายกรัฐมนตรีในฐานะผู้นำที่โดดเด่นในการส่งเสริมบทบาทและศักยภาพของสตรี

$
0
0
สถาบัน Woodrow Wilson ชื่นชมนายกรัฐมนตรีในฐานะผู้นำที่โดดเด่นในการส่งเสริมบทบาทและศักยภาพของสตรี

นาง Jane Harman ผู้อำนวยการสถาบัน Woodrow Wilson International Center เข้าเยี่ยมคารวะและแสดงความชื่นชมนายกรัฐมนตรีในฐานะผู้นำสตรี ที่ช่วยส่งเสริมบทบาทและศักยภาพของสตรี และประสงค์ที่จะทำงานร่วมกับรัฐบาลไทยในการจัดกิจกรรมส่งเสริมสตรีในภูมิภาคเอเชียต่อไป

 

วันนี้ เวลา 11.30 น. ณ ห้องสีม่วง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล นาง Jane Harman ผู้อำนวยการ ประธานและประธานเจ้าหน้าที่ผู้บริหาร The Woodrow Wilson International Center for Scholars เข้าเยี่ยมคารวะ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มีการสนทนาสรุปดังนี้

 

นายกรัฐมนตรีกล่าวต้อนรับนาง Jane Harman ประธานบริหารสถาบัน Wilson Center ซึ่งมีความโดดเด่นด้านการศึกษาวิจัยของนักวิชาการในประเด็นระหว่างประเทศ โดยเฉพาะการสร้างสันติภาพประชาธิปไตยและการส่งเสริมบทบาทของสตรี ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้เคยไปกล่าวสุนทรพจน์เพื่อส่งเสริมบทบาทสตรีในงาน A Global Conversation: Woman Leaders Respond to the UNGA  เมื่อครั้งเดินทางเยือนนครนิวยอร์ก เพื่อเข้าร่วมการประชุมสหประชาชาติ ครั้งที่ 67 ในเดือนกันยายน 2555 ที่ผ่านมา

โดยนาง Jane Harman ได้แสดงความชื่มชมบทบาทของนายกรัฐมนตรีในการส่งเสริมและพัฒนาสตรีในประเทศไทยและในระดับนานาชาติ การจัดตั้งกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี รวมถึง การแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ โดยเฉพาะเด็กและสตรี ซึ่งนับเป็นงานที่ยาก แต่นาง Harman เห็นว่ารัฐบาลสามารถจัดการกับปัญหาได้อย่างดียิ่ง โดยในโอกาสนี้ นาง Harman ได้กล่าวถึงเป้าหมายขององค์กรที่ต้องการให้มีสตรีในเอเชียเข้ามาทำงานในภาครัฐเพิ่มมากขึ้นถึงร้อยละ 50 ภายในปี 2050

ในการนี้ นายกรัฐมนตรีได้แสดงความพร้อมที่จะให้การสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมของสถาบัน Woodrow Wilson โดยเฉพาะประเด็นที่สำคัญต่อสตรีและเป็นส่วนหนึ่งที่ส่งเสริมการเพิ่มจำนวนของผู้นำสตรี ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลไทย อีกทั้งได้เห็นพ้องที่จะทำงานร่วมกันในการจัดกิจกรรมในประเทศไทยเพื่อส่งเสริมศักยภาพและบทบาทสตรีในเอเชียต่อไปในอนาคตด้วย

 

****************************

กลุ่มวิเทศสัมพันธ์ สำนักโฆษก

 


ประธานรัฐสภาเกาหลีใต้ร่วมผลักดันความสัมพันธ์ไทย – เกาหลีใต้ในทุกระดับ

$
0
0
ประธานรัฐสภาเกาหลีใต้ร่วมผลักดันความสัมพันธ์ไทย – เกาหลีใต้ในทุกระดับ

 

นายคัง ชาง-ฮี ประธานรัฐสภาสาธารณรัฐเกาหลีเชื่อมั่นผู้นำหญิงนำพาภูมิภาคเอเชียสู่ความรุ่งเรืองยิ่งขึ้นในอนาคต

 

 

วันนี้ (16 ม.ค. 56) เวลา 13.30 น. ณ ห้องสีงาช้าง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล นายคัง ชาง-ฮี ประธานรัฐสภาสาธารณรัฐเกาหลีเข้าเยี่ยมคารวะนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เนื่องในโอกาสเยือนไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของรัฐสภา สรุปการสนทนาดังนี้

การพบหารือกับประธานรัฐสภาสาธารณรัฐเกาหลี นายกรัฐมนตรีได้แสดงความยินดีที่สาธารณรัฐเกาหลีได้มีการเลือกตั้งประธานาธิบดี ซึ่งนางสาวปัก กึน-ฮเย (Park Geun-hye) ได้รับชัยชนะและเป็นประธานาธิบดีหญิงคนแรกของประเทศ โดยประธานรัฐสภาเกาหลีใต้ได้กล่าวว่าการที่เกาหลีใต้และไทยมีผู้นำหญิงเช่นเดียวกันจะนำพาภูมิภาคเอเชียสู่ความรุ่งเรืองมากยิ่งขึ้นในอนาคต

ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีและประธานรัฐสภาเกาหลีใต้แสดงความยินดีต่อความสัมพันธ์ไทย – เกาหลีใต้ ที่มีพัฒนาการที่ดีในหลายด้าน ทั้งการแลกเปลี่ยนระดับประชาชน การค้า การลงทุน การศึกษาและวัฒนธรรม ซึ่งการพัฒนาเศรษฐกิจของเกาหลีใต้ถือเป็นตัวอย่างที่ดีในความสามารถเผยแพร่ทั้งวัฒนธรรมและผลิตภัณฑ์สินค้าที่ใช้เทคโนโลยีระดับสูง สำหรับความสัมพันธ์ระหว่างรัฐสภา นายกรัฐมนตรีเห็นพ้องกับทางประธานรัฐสภาเกาหลีใต้ว่าทั้งสองประเทศมีความสัมพันธ์ที่อยู่ในระดับดีมากมาโดยตลอด โดยมีการแลกเปลี่ยนการเยือนในระดับรัฐสภาของผู้แทนระดับสูงอย่างสม่ำเสมอ ทั้งยังมีการจัดตั้งกลุ่มมิตรภาพสมาชิกรัฐสภาทั้งในไทยและสาธารณรัฐเกาหลี ที่สนับสนุนให้รัฐสภาของทั้ง 2 ประเทศมีส่วนสำคัญในการส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศ ซึ่งนายกรัฐมนตรีเน้นถึงการเสริมสร้างความสัมพันธ์ในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับระหว่างผู้นำทั้งสองประเทศจนถึงในระดับประชาชน และจากการเดินทางเยือนไทยอย่างเป็นทางการของนายอี มยอง-บัก ประธานาธิบดีสาธารณรัฐเกาหลี เมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี 2555 ที่ผ่านมา ไทยและสาธารณรัฐเกาหลีได้ยกระดับความสัมพันธ์ทวิภาคีเป็น “หุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์” จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้มีการผลักดันให้เกิดความร่วมมือ การลงทุน และการแลกเปลี่ยนระหว่างกันมากยิ่งขึ้นต่อไป

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวยินดีและขอบคุณที่ภาคเอกชนเกาหลีใต้ก็ให้ความสนใจเข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น ในส่วนของระบบบริหารจัดการน้ำและป้องกันอุทกภัย กลุ่มบริษัทของเกาหลีใต้ได้ผ่านการพิจารณาคุณสมบัติด้วยเช่นกัน ซึ่งนายกรัฐมนตรียืนยันที่จะดูแลให้การเปิดประมูลเป็นไปอย่างโปร่งใสและรอบคอบ โดยคาดว่าจะสามารถประกาศผลการคัดเลือกขั้นสุดท้ายได้ภายในระยะเวลาอันใกล้นี้

**********************************

วิเทศสัมพันธ์ สำนักโฆษก

 

นายกรัฐมนตรีระบุรัฐบาลใช้การพัฒนาและใจในการแก้ไขปัญหาจังหวัดใช้แดนภาคใต้

$
0
0
นายกรัฐมนตรีระบุรัฐบาลใช้การพัฒนาและใจในการแก้ไขปัญหาจังหวัดใช้แดนภาคใต้

นายกรัฐมนตรีระบุรัฐบาลใช้การพัฒนาและใจในการแก้ไขปัญหาจังหวัดใช้แดนภาคใต้ โดยขณะนี้ได้เข้าไปทำงานในพื้นที่แล้วในการที่จะบูรณาการกำลังพลต่าง ๆ และให้เจ้าหน้าที่นำข้อมูลต่าง ๆ ที่ได้นำมาวิเคราะห์รายละเอียดอีกครั้ง รวมทั้งให้มีการติดตามความคืบหน้าอย่างใกล้ชิด

 

วันนี้ (17มี.ค.56) เวลา 11.55 น. ณ ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาความไม่สงบจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะล่าสุดได้เกิดเหตุการณ์ยิงรถนักเรียนและผู้เสียชีวิตหนึ่งคน ว่า สถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้รัฐบาลยังต้องเข้าไปทำงนในพื้นที่อย่างใกล้ชิด โดยมาตรการต่าง ๆ ที่ลงไปในพื้นที่นั้น เน้นเรื่องมาตรการในการพัฒนา การสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างกัน แต่คงต้องใช้ระยะเวลา และแม้จะมีการแก้ปัญหาในเรื่องดังกล่าวอย่างต่อเนื่องซึ่งจะไม่ให้เกิดเหตุการณ์และปัญหาความไม่สงบเลยคงเป็นไปไม่ได้ แต่อย่างไรก็ตามขณะนี้ก็ได้มีการเข้าไปทำงานในพื้นที่แล้วในการที่จะบูรณาการกำลังพลต่าง ๆ และให้เจ้าหน้าที่นำข้อมูลต่าง ๆ ที่ได้นำมาวิเคราะห์ลงไปในรายละเอียดอีกครั้ง และให้มีการติดตามความคืบหน้าอย่างใกล้ชิด พร้อมกันเน้นย้ำถึงการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า ใช้การพัฒนาและใจทำงานร่วมกันในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว

ส่วนที่นายกรัฐมนตรี มีแผนที่จะเดินทางไปประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่อย่างเป็นทางการภาคใต้นั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พื้นที่ภาคใต้ถือเป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่รัฐบาลจะเข้าไปทำงาน โดยจะมีการหารือร่วมกับฝ่ายความมั่นคงก่อนว่าจะเป็นพื้นที่ใดที่จะไปจัดประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่ฯ ต่อไป

 

----------------------------

กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษก

วิไลวรรณ/รายงาน

 

กำหนดการเยือนไทยอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น และภริยา

$
0
0
กำหนดการเยือนไทยอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น และภริยา

นายชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นและภริยา มีกำหนดการเดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ 17-18 มกราคม 2556 โดยมีกำหนดการสำคัญดังนี้

 

วันพฤหัสบดีที่ 17 มกราคม 2556

เวลา 11.30 น.     นายชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น และภริยา เดินทางถึงท่าอากาศยานดอนเมือง โดยเที่ยวบินพิเศษ โดยมีนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในฐานะผู้แทนรัฐบาลและภริยารอให้การต้อนรับ

เวลา 14.00 น.     นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นเดินทางไปยังสถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น

เวลา 16.20 น.     นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นและภริยาเดินทางไปยังโรงพยาบาลศิริราช

เวลา 17.00 น.     พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น และภริยาเข้าเฝ้าฯ ณ ห้องประชุมสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ชั้น 14 อาคารเฉลิมพระเกียรติ

เวลา 17.40 น.     นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นเดินทางไปยังทำเนียบรัฐบาล

เวลา 18.00 น.     นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นเดินทางถึงทำเนียบรัฐบาล โดยมีนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตรรอต้อนรับ

- พิธีตรวจแถวกองทหารเกียรติยศ ณ สนามหญ้าด้านหน้าตึกไทยคู่ฟ้า

- หารือข้อราชการแบบเต็มคณะ ระหว่างนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นและนายกรัฐมนตรี ณ ตึกสันติไมตรีหลังใน

- การแถลงข่าวร่วม ณ โถงหินอ่อน ตึกสันติไมตรี

- นายกรัฐมนตรีเป็นเจ้าภาพเลี้ยงงานเลี้ยงอาหารค่ำ เพื่อเป็นเกียรติแด่นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นและภริยา ณ ตึกสันติไมตรีหลังนอก

วันศุกร์ที่ 18 มกราคม 2556

เวลา 07.45 น.     นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นและภริยาเดินทางไปยังท่าอากาศยานดอนเมือง โดยมีนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในฐานะผู้แทนรัฐบาลและภริยารอให้การต้อนรับ

เวลา 08.30 น.    รัฐมนตรีญี่ปุ่นและภริยาเดินทางออกจากท่าอากาศยานดอนเมือง โดยเที่ยวบินพิเศษไปยังสาธารณรัฐอินโดนีเซีย

 

 

 

********************************

กลุ่มวิเทศสัมพันธ์ / สำนักโฆษก

 

คทป. เห็นชอบแนวทางให้มีการรณรงค์และสนับสนุนให้หน่วยงานภาครัฐใช้ซอฟแวร์ที่ถูกกฎหมาย

$
0
0
คทป. เห็นชอบแนวทางให้มีการรณรงค์และสนับสนุนให้หน่วยงานภาครัฐใช้ซอฟแวร์ที่ถูกกฎหมาย

ที่ประชุม คทป. เห็นชอบนโยบายระบบทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อพัฒนาความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

วันนี้ (17 ม.ค. 56) เวลา 10.30 น. ณ ห้องประชุม 301 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายทรัพย์สินทางปัญญาแห่งชาติ (คทป.) ครั้งที่ 1/2556 โดยมี นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ และคณะกรรมการนโยบายทรัพย์สินทางปัญญาแห่งชาติเข้าร่วมประชุม ซึ่งผลการประชุมสรุปสาระสำคัญ ดังนี้

ที่ประชุมเห็นชอบร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการป้องปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาแห่งชาติ (ศปช.) และเห็นชอบการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการว่าด้วยศูนย์ปฏิบัติการป้องปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาแห่งชาติ โดย ศปช. มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ หรือรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์มอบหมายเป็นผู้อำนวยการศูนย์ฯ และอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาเป็นเลขานุการ ศปช. โดยมีอำนาจหน้าที่ในกำหนดแผนปฏิบัติการหรือมาตรการในการป้องปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์หรือนโยบายที่ คทป. กำหนดการติดตาม และประเมินผลการดำเนินงานตามนโยบาย มาตรการ และแผนปฏิบัติการที่เกี่ยวกับการป้องปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา การประสานงานกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง  เพื่อบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับการป้องปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาให้มีประสิทธิภาพ และ การประกาศกำหนดกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการป้องปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา เป็นต้น โดยมอบหมายให้กรมทรัพย์สินทางปัญญา เสนอร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ดังกล่าวต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป

นอกจากนี้ ที่ประชุมเห็นชอบให้เพิ่มความถี่และจำนวนครั้ง ในการทำลายของกลาง เพื่อลดภาระในการจัดเก็บของกลางของหน่วยงานที่รับผิดชอบ เช่น ตำรวจ  DSI ซึ่งที่ผ่านมามีการทำลายปีละ 2 ครั้ง    และเห็นชอบการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการภายใต้คณะกรรมการนโยบายทรัพย์สินทางปัญญาแห่งชาติ ได้แก่ เห็นชอบยืนยันการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเตรียมการประชุม WIPO Intergovernmental Committee on Intellectual Property and Genetic Resources, Traditional Knowledge and Folklore (IGC) เพื่อให้การดำเนินนโยบายด้านการคุ้มครองทรัพยากรพันธุกรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น     และการแสดงออกทางวัฒนธรรมดั้งเดิม มีประสิทธิภาพเกิดผลเป็นรูปธรรม โดยเพิ่มผู้แทนสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) เป็นอนุกรรมการด้วยอีก 1 หน่วยงาน เพราะเป็นหน่วยงานสำคัญที่สนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ ซึ่งเป็นฐานสำคัญของการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพของประเทศ ตลอดจนเห็นชอบการแต่งตั้งคณะทำงานติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ทรัพย์สินทางปัญญา พ.ศ. 2556 – 2559 แทนการแต่งตั้งคณะทำงานจัดทำแผนปฏิบัติการภายใต้ยุทธศาสตร์นโยบายทรัพย์สินทางปัญญา พ.ศ. 2556 – 2559 เนื่องจากปัจจุบันหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในแต่ละยุทธศาสตร์ได้มีการดำเนินกิจกรรมที่เกี่ยวข้องตามยุทธศาสตร์อยู่แล้ว

ที่ประชุมเห็นชอบแผนการเตรียมการแก้ไขการจัดอันดับประเทศไทยจาก PWL เป็น WL ตามกฎหมายการค้าสหรัฐฯ มาตรา 301 พิเศษ โดยการปรับแก้ไขกฎหมายที่เป็นประโยชน์แก่การพัฒนาระบบทรัพย์สินทางปัญญาของไทยให้แล้วเสร็จก่อนการประกาศผลการประเมินสถานะของไทยโดยสหรัฐในเดือน เมษายน อาทิ แก้ไข กฎหมายลิขสิทธิ์เพื่อพัฒนาระบบการคุ้มครองงานบนเครือข่ายดิจิทัลและอินเทอร์เน็ต การแก้ไขกฎหมายลิขสิทธิ์ เพื่อป้องกันการแอบถ่ายในโรงภาพยนตร์ การแก้ไขกฎหมายศุลกากรเพื่อเพิ่มบทบัญญัติให้อำนาจศุลกากรในการตรวจยึดสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาที่อยู่ระหว่างการขนถ่ายลำเรือ (Transshipment) และสินค้าผ่านแดน (Transit) การยกร่างกฎหมายเอาผิดเจ้าของพื้นที่ ( Landlord Liability) รวมถึงการปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา โดยได้มีการเร่งรัดการปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา และเร่งรัดการปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ณ จุดนำเข้า – ส่งออก ให้เกิดผลเป็นรูปธรรม

พร้อมกันนี้ ที่ประชุมเห็นชอบแนวทางให้มีการรณรงค์และสนับสนุนให้หน่วยงานภาครัฐใช้ซอฟแวร์ถูกกฎหมาย โดยมอบกรมทรัพย์สินทางปัญญาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปเจรจาต่อรองลดราคากับเอกชน       และเห็นชอบนโยบายระบบทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อพัฒนาความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยให้ความเห็นชอบนโยบายดังกล่าวและมอบหมายให้หน่วยงานต่างๆ อาทิ กรมทรัพย์สินทางปัญญา สำนักงานคณะกรรมนโยบายวิทยาศาสตร์ (สวทน.)  คณะกรรมการการอุดมศึกษา และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ดำเนินการต่อไป

 

************************

กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษก

ปรียานุช/รายงาน

 

นายกรัฐมนตรีเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการบริหารงานจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ (ก.น.จ.)

$
0
0
นายกรัฐมนตรีเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการบริหารงานจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ (ก.น.จ.)

นายกรัฐมนตรีเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการบริหารงานจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ (ก.น.จ.) โดยเน้นย้ำการจัดทำแผนยุทธศาสตร์จังหวัดจะต้องให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ประเทศ  มีการบูรณาการร่วมกับกระทรวง และจังหวัด เพื่อให้การทำงานเป็นไปในทิศทางเดียวกัน

 

วันนี้ (17ม.ค.56) เวลา 10.00 น. ณ ห้องประชุม 501 ชั้น 5 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการบริหารงานจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ (ก.น.จ.) ครั้งที่ 1/2556 ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งผลการประชุมสรุปสาระสำคัญ ดังนี้

นายกรัฐมนตรี ประธานฯ แจ้งที่ประชุมรับทราบว่า การทำงานของรัฐบาล โดยเฉพาะในเรื่องของโครงสร้างพื้นฐานของประเทศนั้น รัฐบาลจะมีการพัฒนาขึ้น รวมทั้งการเพิ่มศักยภาพจังหวัด/กลุ่มจังหวัดให้มากขึ้น โดยเน้นให้ความสำคัญเรื่องของยุทธศาสตร์จังหวัดเป็นศูนย์กลาง และมีการนำความรู้และความเข้าใจของพื้นที่เชื่อมโยงกับนโยบายที่เป็นยุทธศาสตร์ของประเทศ เพื่อทำให้การขับเคลื่อนในส่วนของจังหวัดมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ในส่วนของการบริหารงานของจังหวัด/กลุ่มจังหวัด ซึ่ง ก.น.จ. ดำเนินการอยู่นั้น ถือเป็นสิ่งที่ดีที่จะได้มาทำงานให้มีความสอดคล้องกัน ขณะที่ในส่วนของรัฐบาลและกระทรวงก็จะเข้าไปทำงานบูรณาการเพิ่มเติมในส่วนนี้อีกทางหนึ่ง เพื่อให้การทำงานเป็นไปในทิศทางเดียวกัน  เนื่องจากต้องการเห็นในแต่ละพื้นที่และแต่ละจังหวัดมีการพัฒนา ทั้งในเรื่องของเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และคุณภาพชีวิตต่าง ๆ ดีขึ้น โดยเฉพาะการลดความเหลื่อมล้ำในสังคม เป็นต้น

พร้อมกันนี้ ที่ประชุมได้มีการหารือและพิจารณาในเรื่องแผนพัฒนาจังหวัด/กลุ่มจังหวัด 4 ปี (2557-2557) และเห็นชอบหลักเกณฑ์และแนวทางการกำหนดกรอบการจัดสรรงบประมาณจังหวัดและกลุ่มจังหวัดประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2557 โดยนายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำในเรื่องของหลักเกณฑ์และแนวทางการกำหนดกรอบการจัดสรรงบประมาณจังหวัดและกลุ่มจังหวัดประจำปี 2557  และให้นโยบายว่าการจัดทำแผนยุทธศาสตร์จังหวัดจะต้องให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ประเทศ โดยมอบหมายให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดไปดูในเรื่องการจัดเก็บรายได้ของจังหวัดว่ารายได้ส่วนใหญ่มาจากอะไร เพื่อจะให้ทราบว่ายังมีรายได้ส่วนใดที่จังหวัดยังไม่ได้มีการดำเนินการเพื่อให้มีการจัดเก็บรายได้ในส่วนใหม่เพิ่มขึ้นและสามารถลดรายจ่ายได้  ทั้งนี้ จะมีการหารือเรื่องดังกล่าวร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในช่วงบ่ายของวันที่ 22 มกราคม 2556  ภายหลังการประชุมระดับผู้ว่าราชการจังหวัด โดยจะมีการแบ่งกลุ่มจังหวัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ( workshop)  เพื่อให้ได้ยุทธศาสตร์จังหวัดที่ชัดเจนและนำไปสู่การเป็นยุทธศาสตร์กลุ่มจังหวัด ก่อนนำเสนอที่ประชุม ก.น.จ. พิจารณาในครั้งต่อไป

 

----------------------------

กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษก

วิไลวรรณ/รายงาน

 

 

 

นรม. ร่วมเป็นสักขีพยานลงนามบันทึกความร่วมมือด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

$
0
0
นรม. ร่วมเป็นสักขีพยานลงนามบันทึกความร่วมมือด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

กษ. จับมือ 4 หน่วยงานจัดทำ “หนึ่งบัตรประชาชนเพื่อเกษตรกรปราดเปรื่อง”

 

วันนี้ (17 มกราคม 2556) เวลา 13.30 น. ณ ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรมรามาการ์เด้น ถนนวิภาวิดีรังสิต นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานและสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือ ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ในการสนับสนุน นโยบาย Smart Farmer/Smart Officer “หนึ่งบัตรประชาชนเพื่อเกษตรกรปราดเปรื่อง : One ID Card for Smart Farmer” ระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) โดยมีนายยุคล ลิ้มแหลมทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นาวาอากาศเอก อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และนายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตัวแทนเกษตรกร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เข้ามาร่วมงานเป็นจำนวนมาก

นายโอฬาร พิทักษ์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าว ในนามของผู้จัดพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือในครั้งนี้ สืบเนื่องจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีนโยบายดำเนินงานเกี่ยวกับการพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกร “นโยบาย Smart Farmer และ Smart Officer” โดยมีวัตถุประสงค์ในการนำเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมาใช้สนับสนุนการดำเนินงาน ด้านการส่งเสริม การพัฒนาและยกระดับการผลิตและราคาสินค้าเกษตรและอาหาร รวมทั้งคุณภาพชีวิตของเกษตรกร ซึ่งปัจจุบันข้อมูลทะเบียนเกษตรกรยังมีความจำเป็นต้องปรับปรุงและจะมีการสำมะโนการเกษตรปี 2556 ซึ่งจะทำให้ข้อมูลทะเบียนเกษตรกรมีความสมบูรณ์มากขึ้น และสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการสนับสนุน รวมทั้งการช่วยเหลือเกษตรกรได้เป็นอย่างดี โดยนำข้อมูลดังกล่าวจัดเก็บไว้บนบัตรประจำตัวประชาชนแบบเอนกประสงค์ (Smart Card) ให้เป็นบัตรเดียวที่มีข้อมูลครบถ้วน

สำหรับภารกิจที่หน่วยงานต่าง ๆ จะมาร่วมดำเนินงานในครั้งนี้ ประกอบด้วย กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติจะดำเนินการจัดทำสำมะโนเกษตร พ.ศ. 2556 และมีการส่งเสริมการเกษตรให้การสนับสนุนในการจัดเก็บข้อมูล ซึ่งข้อมูลที่ได้จะนำมาใช้ประโยชน์ร่วมกับฐานข้อมูลทะเบียนเกษตรกร และจะมีการนำไปตรวจสอบปรับปรุงฐานข้อมูลให้ถูกต้องกับฐานข้อมูลทะเบียนราษฎรของกรมการปกครอง หลังจากนั้นจะมีการ่วมกันพัฒนาระบบการให้บริการของภาครัฐในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งการจัดเก็บไว้ในระบบการจัดเก็บขนาดใหญ่ โดยสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) จะมีการร่วมกันจัดทำเนื้อหาองค์ความรู้ด้านการเกษตร การทำธุรกิจเกษตร ข้อมูลที่สำคัญและสถานการณ์ต่าง ๆ เพื่อนำไปถ่ายทอดสู่เกษตรกรผ่านทางโทรทัศน์อินเตอร์เน็ต (IPTV) ไปยังศูนย์บริการ ICT ชุมชนทั่วประเทศ

ด้านกระทรวงมหาดไทย โดยสำนักทะเบียนกลาง กรมการปกครอง จะร่วมกับกรมส่งเสริมการเกษตร นำข้อมูลพื้นฐานของเกษตรกรที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ไปบูรณาการกับฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร และอำนวยความสะดวกและสนับสนุนให้มีการบันทึกข้อมูลเกษตรกรไว้ในบัตรสมาร์ทการ์ด (Smart card) เพื่อใช้ในการบริหารจัดการด้านการเกษตร และด้านอื่น ๆ ตามนโยบายของรัฐบาล
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยสำนักงานปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจะให้การสนับสนุนข้อมูลและแผนที่ รวมทั้งรายละเอียดของพื้นที่อนุรักษ์พื้นที่ป่าไม้ และพื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ร่วมใช้ข้อมูล และแผนที่ในการจัดพื้นที่ด้านการผลิตการเกษตร สำหรับการวางแผนและจัดการผลิตด้านการเกษตรให้เป็นไปตามนโยบายรัฐบาล และจะร่วมกันสนับสนุนข้อมูลและองค์ความรู้ รวมทั้งบุคลากรด้านความหลากหลายทางชีวิภาพ เพื่อการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์ร่วมกันในพื้นที่อนุรักษ์ และพื้นที่อื่น ๆ ของประเทศให้มีการถ่ายทอดองค์ความรู้ดังกล่าวไปยังเกษตรกร

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวก่อนทำพิธีลงนามฯ ว่า การทำงานร่วมกันของกระทรวงดังกล่าว ถือว่าเป็นการบูรณาการในส่วนของข้อมูลสำคัญที่เป็นประโยชน์ในการที่จะเก็บข้อมูลทางด้านการเกษตรและลดปัญหาการซ้ำซ้อนของเนื้องาน เพราะเป็นนโยบาย “หนึ่งบัตรประชาชนเพื่อเกษตรกรปราดเปรื่อง” ที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่เริ่มโครงการและร่วมบูรณาการกับกระทรวงอื่น ๆ ในการที่จะมารวบรวมข้อมูลเพื่อพี่น้องเกษตรกร ซึ่งมีกว่า 12 ล้านคน หรือคิดเป็นครัวเรือนกว่า 7 ล้านครัวเรือน ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของประเทศไทยในการสร้างฐานของเศรษฐกิจที่จะเจริญเติบโต ในอนาคตข้างหน้า สอดคล้องกับรัฐบาลมีแนวคิดที่จะพัฒนาโดยการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ หรือ ICT เข้ามาบูรณาการในการทำงาน ตลอดจนการเชื่อมโยงข้อมูลของหน่วยงานทุกกระทรวงเข้าด้วยกันภายใต้รูปแบบที่เรียกว่า E-Government  หรือ G-Cloud เพื่อให้เกิดการบูรณาการ ลดการซ้ำซ้อน ลดปัญหาช่องว่างของการดูแลของประชาชนที่จะได้เป็นไปอย่างรวดเร็วและการแก้ไขปัญหา ทุจริตและคอรัปชั่นและส่งผลให้การบริการภาคประชาชนรวดเร็วขึ้นในอนาคต

สำหรับงานที่กระทรวงทั้ง 5 หน่วยงานบูรณาการร่วมกันนั้นจะทำให้เห็นสิ่งที่เป็นการบูรณาการของทะเบียนเกษตร ซึ่งจะทำให้ได้ข้อมูลจากภาคการเกษตรที่มีทั้งข้อมูลการปลูก การเก็บพืชผลผลิตและการบริหารลงไปยังพื้นที่ ซึ่งเป็นโครงการใหญ่ของรัฐบาลที่จะทำคือเรื่องโซนนิ่งภาคการเกษตร ว่าพื้นที่ไหนเหมาะสมที่จะเป็นพื้นที่เพาะปลูกที่ดีที่สุด รวมถึงการเพิ่มทรัพยากรน้ำ เพื่อใช้ในภาคการเกษตรและการเพิ่มผลผลิตในระยะยาว อย่างเป็นระบบ

ซึ่งกระทรวงที่เกี่ยวข้องถือเป็นกระทรวงหลักที่มีความสำคัญในการให้บริการจากภาคการเกษตร โดยเทคโนโลยีในการสนับสนุนการบริหารการจัดการ ด้วยความรวดเร็ว โปร่งใส ปราศจากการทุจริต คอรรัปชั่น ซึ่งจะสามารถลดปัญหาต่าง ๆ ในอนาคต

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่ารัฐบาลอยากเห็นทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้องช่วยกันขยายงานออกไปให้กว้างขวางขึ้น และต่อยอดกับโซนนิ่งเกษตร ซึ่งในอนาคตอาจจะเป็นสาขาอาชีพอื่น ประมง ปศุสัตว์ ซึ่งเป็นการทำงานที่ส่งเสริมซึ่งกันและกันจริง ๆ เพื่อก้าวไปสู่การพัฒนาบนระบบอิเล็กทรอนิกของภาครัฐอย่างเต็มประสิทธิภาพและเต็มรูปแบบ ระบบราชการสามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนได้ทันต่อสถานการณ์

จากนั้น นายกรัฐมนตรี ร่วมเป็นสักขีพยานในการลงนามบันทึกความร่วมมือด้านการเทคโนโลยีและการสื่อสาร ระหว่าง ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรรณ์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และ ผู้อำนวยการสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) พร้อมเยี่ยมชมการสาธิต การบันทึกข้อมูลทะเบียนเกษตรกรและการใช้ประโยชน์จากบัตรประจำตัวประชาชนเอนกประสงค์ (Smart Card) และมอบบัตรสมาร์ทการ์ดที่ได้ปรับปรุงข้อมูลให้แก่ตัวแทนเกษตรกรจากจังหวัดนครนายกจำนวน 10 ราย


……………………………………………



กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษก
เกศกนก/รายงาน




รอง นรม. ปลอดประสพฯ แถลงผลการประชุมการจัดทำแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษหมอกควันภาคเหนือ 9 จังหวัด ปี 2556

$
0
0

รัฐบาลกำหนดมาตรการ 5 ข้อ ห้ามเผาไฟในพื้นที่ 3 แห่ง มอบผู้ว่าราชการจังหวัดรับผิดชอบ

 

วันนี้ (17 มกราคม 2556) เวลา 16.30 น. ณ ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี ได้แถลงผลการประชุม การจัดทำแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษหมอกควันภาคเหนือ 9 จังหวัด ปี 2556 สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

 

นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี แถลงว่า เนื่องจากปีที่ผ่านมาเกิดปัญหาไฟไหม้และหมอกควันเป็นจำนวนมาก ในปีนี้นายกรัฐมนตรีจึงเป็นห่วงปัญหาเรื่องนี้เป็นอย่างมาก เพราะส่งผลกระทบในหลายด้าน อาทิ ด้านการคมนาคม ด้านสุขภาพ และด้านการท่องเที่ยวซึ่งเป็นเศรษฐกิจหลักของภาคเหนือ ดังนั้น รัฐบาลจึงมีนโยบายที่เป็นมาตรการป้องกัน 5 ข้อ ได้แก่ 1. ป้องกันการเผาหรือไม่มีการเผา 2. ผู้ว่าราชการจังหวัดต้องรับผิดชอบดูแลพื้นที่ 3. ใช้ระบบ Single Command ในการสั่งการ 4. มอบหมายให้คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) เป็นฝ่ายอำนวยการป้องกันไฟป่าและหมอกควัน โดยใช้พระราชบัญญัติ (พรบ.) ป้องกันบรรเทาสาธารณภัย 5. เพื่อให้เกิดการชัดเจนในการดำเนินงาน ใน 9 จังหวัดภาคเหนือ จะมีการตั้งคณะกรรมการระดับชาติ ภายใต้ กบอ. และฝ่ายอำนวยการส่วนหน้า 2 จุด ซึ่งฝ่ายอำนวยการส่วนหน้า 2 จุดนี้ จะทำหน้าที่ร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด 9 จังหวัดภาคเหนือ

 

สำหรับพื้นที่ที่ห้ามไม่ให้มีการเผา ได้แก่ 1. พื้นที่ในเมือง ซึ่งทางจังหวัดเป็นผู้รับผิดชอบ 2. พื้นที่เกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์และจังหวัดเป็นผู้รับผิดชอบ 3. พื้นที่ป่า กรมอุทยานแห่งชาติและกรมป่าไม้เป็นผู้รับผิดชอบ ซึ่งพื้นที่ทั้ง 3 พื้นที่ ผู้ว่าราชการจังหวัดจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ

 

...............................................

 

กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชุมสัมพันธ์ สำนักโฆษก

วีรพงษ์ รายงาน

 


นายกรัฐมนตรีไทย-ญี่ปุ่นย้ำความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ พร้อมวางรากฐานสู่อนาคตที่ยั่งยืน

$
0
0
นายกรัฐมนตรีไทย-ญี่ปุ่นย้ำความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ พร้อมวางรากฐานสู่อนาคตที่ยั่งยืน

วันนี้ (17 ม.ค. 56) เวลา 18.00 น. นายชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น เดินทางถึงทำเนียบรัฐบาล ภายหลังการเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ โรงพยาบาลศิริราช โดยมีนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีรอให้การต้อนรับ บริเวณหน้าตึกไทยคู่ฟ้า ก่อนนำเข้าร่วมพิธีต้อนรับอย่างเป็นทางการ ซึ่งจัดให้มีการตรวจแถวกองทหารเกียรติยศ ณ สนามหญ้าหน้าตึกไทยคู่ฟ้า เมื่อเสร็จสิ้นพิธีนายกรัฐมนตรีเชิญนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นไปยังแถวผู้มีเกียรติที่มาร่วมพิธีต้อนรับอย่างเป็นทางการ เพื่อแนะนำคณะรัฐมนตรีและคณะทูตานุทูต

จากนั้นเวลา 18.20 น. ทั้งสองฝ่ายได้เข้าร่วมการหารือข้อราชการแบบเต็มคณะ ณ ตึกสันติไมตรีหลังใน โดยผู้เข้าร่วมฝ่ายไทย ประกอบด้วย นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี และนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

สำหรับผู้เข้าร่วมฝ่ายญี่ปุ่นประกอบไปด้วย นายชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรี นายฮิโรชิเกะ เซะโค รองเลขาธิการคณะรัฐมนตรี นายมิคิยะ ชิชิโระ โฆษกคณะรัฐมนตรี นายเคนอิชิโร อุระกะมิ ผู้ช่วยที่ปรึกษาคณะรัฐมนตรี และนายอะคิทะคะ ไซคิ รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ เป็นต้น สาระสำคัญการหารือโดยสรุปมีดังนี้

นายกรัฐมนตรีแสดงความยินดีแก่นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นที่ชนะการเลือกตั้งได้เสียงข้างมากเด็ดขาด พร้อมทั้งยืนยันว่าไทยมีความพร้อมที่จะร่วมทำงานกับรัฐบาลญี่ปุ่น ซึ่งการเยือนไทยของนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นครั้งนี้ ไทยได้เตรียมการต้อนรับอย่างเต็มที่ เพราะนับเป็นครั้งแรกในรอบ 11 ปีที่นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นมาเยือนไทยอย่างเป็นทางการ ญี่ปุ่นถือเป็นผู้ลงทุนและคู่ค้าอันดับหนึ่งของไทย และมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาของภูมิภาค

ในโอกาสนี้ทั้งสองฝ่ายได้หารือและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นต่างๆ ทั้งทวิภาคี พหุภาคี และระหว่างประเทศ โดยเห็นพ้องความสำคัญของความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ ไทย-ญี่ปุ่นซึ่งเป็นพันธมิตรที่ดีต่อกัน มีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกันในทุกมิติ ซึ่งการพบปะหารือในครั้งนี้จะนำไปสู่การวางรากฐานสู่อนาคตที่ยั่งยืน และเห็นพ้องที่จะเพิ่มพูนความร่วมมือภายใต้ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่นหรือ JTEPA ที่มีอยู่ให้เต็มศักยภาพ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดบนพื้นฐานของผลประโยชน์ร่วมกันอย่างแท้จริง โดยตั้งเป้าหมายการค้าร่วมกันให้ขยายตัวเป็น 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2660

ด้านการลงทุนไทยแสดงความขอบคุณญี่ปุ่นที่ให้ความเชื่อมั่นไทยอย่างต่อเนื่อง และแจ้งว่าไทยเตรียมขยายพื้นที่อุตสาหกรรม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และขอเชิญชวนญี่ปุ่นเข้ามาร่วมมือในการเตรียมความพร้อมเชิงพื้นที่ เพื่ออำนวยความสะดวกตามความต้องการของนักลงทุนญี่ปุ่น โดยญี่ปุ่นได้แสดงความสนใจร่วมมือในโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในไทย อาทิ โครงการรถไฟความเร็วสูง โครงการบริหารจัดการน้ำ นอกจากนี้ ไทยยินดีต้อนรับญี่ปุ่นเข้าร่วมเป็นหุ้นส่วนการพัฒนาโครงการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกและเขตอุตสาหกรรมพิเศษทวาย ตั้งแต่เตรียมความพร้อมโครงสร้างพื้นฐาน การเชิญชวนนักลงทุน และการระดมทุนเพื่อพัฒนาโครงการนี้ให้สำเร็จตามที่ตั้งไว้

ทั้งสองฝ่ายยังได้หารือถึงสถานการณ์ในภูมิภาค อาทิ พัฒนาการในเมียนมาร์ โดยเห็นว่าต้องสนับสนุนกระบวนการประชาธิปไตยควบคู่กับการพัฒนาเศรษฐกิจและการยกระดับความเป็นอยู่ ซึ่งไทยชื่นชมญี่ปุ่นที่ผ่อนผันหนี้และให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมแก่เมียนมาร์ ส่วนในด้านความสัมพันธ์อาเซียน-ญี่ปุ่นนั้น ปีนี้ถือเป็นปีครบรอบ 40 ปี ความสัมพันธ์อาเซียน-ญี่ปุ่น ซึ่งทั้งสองฝ่ายหวังจะใช้โอกาสนี้แสดงบทบาทที่สร้างสรรค์ในการส่งเสริมสันติภาพ ความมั่นคง และความเจริญมั่งคั่งของภูมิภาค

ก่อนจบการสนทนานายกรัฐมนตรีแสดงความเชื่อมั่นว่าการหารือในวันนี้จะก่อให้เกิดประโยชน์ร่วมกันของทั้งสองฝ่าย และเป็นการเสริมสร้างรากฐานที่เข้มแข็งสำหรับการพัฒนาความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ระหว่างสองประเทศต่อไป

 

นายกรัฐมนตรีขอบคุณอดีตเลขาธิการอาเซียนแทนคนไทยทุกคนที่ได้ทำหน้าที่อย่างสมบูรณ์ และช่วยย้ำถึงบทบาทที่สร้างสรรค์ของไทยในอาเซียน

$
0
0
นายกรัฐมนตรีขอบคุณอดีตเลขาธิการอาเซียนแทนคนไทยทุกคนที่ได้ทำหน้าที่อย่างสมบูรณ์ และช่วยย้ำถึงบทบาทที่สร้างสรรค์ของไทยในอาเซียน

 

ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตเลขาธิการอาเซียน เข้าเยี่ยมคารวะนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพื่อรายงานผลการปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการอาเซียนในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (1 มกราคม 2551- 31 ธันวาคม 2555)

 

 

วันนี้ (18 ม.ค. 56) เวลา 10.00 ณ ห้องสีม่วง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตเลขาธิการอาเซียน เข้าเยี่ยมคารวะนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพื่อรายงานผลการปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการอาเซียนในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา สรุปสาระสำคัญของการสนทนาดังนี้

นายกรัฐมนตรีกล่าวแสดงความชื่นชมที่ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณได้ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเลขาธิการอาเซียนในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาได้อย่างราบรื่นและประสบความสำเร็จเป็นที่ภาคภูมิใจของประเทศไทย

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังได้กล่าวขอบคุณอดีตเลขาธิการอาเซียนแทนคนไทยทุกคนที่ได้ทำหน้าที่อย่างสมบูรณ์ นำพาอาเซียนให้มีความก้าวหน้า และช่วยย้ำถึงบทบาทที่สร้างสรรค์ของไทยในอาเซียน และช่วยยกระดับอาเซียนในสายตาของภูมิภาคอื่นๆอีกด้วย

ทั้งนี้ อดีตเลขาธิการอาเซียนได้รายงานถึงผลการปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการอาเซียนในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (1 มกราคม 2551- 31 ธันวาคม 2555) รวมทั้งความสำเร็จต่างๆที่ไทยได้เสนอในเวทีอาเซียนในช่วงที่ผ่านมา พร้อมทั้งเสนอแนะแนวทางการดำเนินการของไทยที่จะช่วยส่งเสริมความเข้มแข็งของอาเซียนและไทยได้ในอนาคต และยังได้กล่าวถึงทิศทางของอาเซียนในอนาคต

 

 

****************************

กลุ่มวิเทศสัมพันธ์

สำนักโฆษก

 

ทีทีอาร์ชู “อินเดีย” ตลาดน่าลงทุนของนักธุรกิจไทย

$
0
0
ทีทีอาร์ชู “อินเดีย” ตลาดน่าลงทุนของนักธุรกิจไทย

ผู้แทนการค้าไทย ในฐานะแขกกิตติมศักดิ์ของสถานทูตอินเดียและหอการค้าอินเดีย เผยสาธารณรัฐอินเดียเป็นตลาดน่าลงทุนสำหรับนักธุรกิจไทยโดยเฉพาะการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน การท่องเที่ยว และการเกษตร

ดร.นลินี ทวีสิน ผู้แทนการค้าไทย เปิดเผยภายหลังเข้าร่วมการสัมมนาโอกาสทางธุรกิจและการลงทุนในอินเดียและไทยในฐานะแขกกิตติมศักดิ์ของสถานทูตอินเดียและหอการค้าอินเดีย เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2556 ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ เซ็นทรัลเวิลด์ ว่า ไทยและอินเดียมีความสัมพันธ์กันยาวนานกว่า 65 ปี โดยในด้านการค้าการลงทุนทวิภาคีในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา เติบโตถึง 8,200 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2554 และคาดว่าจะขยายตัวถึง 200,000 ล้านเหรียญสหรัฐภายในหนึ่งทศวรรษ

ล่าสุด น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้เดินทางเยือนอินเดียและนำเสนอวิสัยทัศน์และแผนงานที่จะเสริมสร้างความสัมพันธ์เชิงกลยุทธ์ในช่วงทศวรรษหน้า โดยเฉพาะด้านโครงสร้างพื้นฐาน การท่องเที่ยวเชิงเกษตรและการแปรรูปอาหาร เนื่องจากขณะนี้รัฐบาลอินเดียให้ความสำคัญกับการจัดหาโครงสร้างพื้นฐานให้เพียงพอและมีประสิทธิภาพเพื่อรองรับเศรษฐกิจที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว และยังมีการเชื่อมโยงถนนจากไทยผ่านพม่าไปยังเขตตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย ตลอดจนการเชื่อมโยงเมืองท่าฝั่งตะวันออกของอินเดียกับท่าเรือน้ำลึกในทวายและแหลมฉบัง จึงเป็นโอกาสดีสำหรับบริษัทรับเหมาก่อสร้างของไทยที่จะเข้าไปลงทุนกับภาครัฐหรือเอกชนของอินเดีย เช่น การขนส่งทางอากาศ สะพาน และการก่อสร้างสนามบิน รวมทั้งการเพิ่มเที่ยวบินระหว่าง 2 ประเทศเช่นเดียวกับประเทศอื่น ๆ ในอาเซียนโดยใช้ประเทศไทยเป็นประตู โดยขณะนี้ทราบว่าสายการบินไทยสไมล์กำลังจะเปิดเที่ยวบินตรง นิวเดลี-ภูเก็ต มุมไบ-ภูเก็ต และอาเมห์ดาบัด-กรุงเทพฯ ในเร็วๆ นี้

ส่วนทางด้านอุตสาหกรรมการเกษตรและอาหาร ทั้งไทยและอินเดียมีศักยภาพในการเพิ่มผลผลิตของพืชอาหารที่มีความหลากหลาย รวมถึงเทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัยซึ่งจะสามารถเพิ่มมูลค่าให้กับกิจการร่วมค้าระหว่างประเทศ โดยประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 36 ของนักลงทุนต่างประเทศที่เข้าไปลงทุนในประเทศอินเดียด้วยการจ่ายเงินการลงทุนโดยตรง (FDI) คิดเป็นมูลค่า 95 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยเฉพาะการลงทุนในเครื่องจักรและผลิตภัณฑ์แช่แข็ง อาหารสัตว์และผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์ และการก่อสร้าง ขณะที่อินเดียลงทุนในไทยประมาณ 460 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนพวกสารเคมี กระดาษ ผลิตภัณฑ์โลหะ อุตสาหกรรมเบา ผลิตภัณฑ์พลาสติก รถยนต์และชิ้นส่วน และภาคบริการ

“วันนี้รัฐบาลทั้งสองประเทศจะส่งเสริมการขยายโอกาสทางการค้าและการลงทุนทั้งในระดับทวิภาคีและระดับภูมิภาคผ่านเขตการค้าเสรีไทยอินเดียและเขตการค้าเสรีอาเซียนอินเดีย ซึ่งนโยบาย Look East ของอินเดียและ Look West ของไทย สามารถนำไปสู่ความสำเร็จที่ใหญ่กว่าและดีกว่าสำหรับทั้งสองประเทศของเรา ดังนั้น นักธุรกิจของไทยจึงน่าจะใช้โอกาสนี้เข้าไปลงทุน โดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดียซึ่งมีศักยภาพสูง” ดร.นลินี กล่าว

.......................

อิทธิเดช สุพงษ์

สำนักโฆษก

 

 

 

 

 

นายกรัฐมนตรีระบุแผนการทำงานกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีฯ ปี 56 เน้นทำงานเชิงบูรณาการมากขึ้น ให้การดูแลช่วยเหลือเด็ก สตรี ผู้ด้อยโอกาส อย่างครบวงจร

$
0
0
นายกรัฐมนตรีระบุแผนการทำงานกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีฯ ปี 56 เน้นทำงานเชิงบูรณาการมากขึ้น ให้การดูแลช่วยเหลือเด็ก สตรี ผู้ด้อยโอกาส อย่างครบวงจร

นายกรัฐมนตรีเป็นประธานประชุมคณะกรรมการกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีฯ ครั้งที่ 1/2556  เผยรัฐบาลมุ่งทำงานต่อยอดกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีฯ เน้นทำงานเชิงบูรณาการมากขึ้น ให้การดูแลช่วยเหลือเด็ก สตรี ผู้ด้อยโอกาส อย่างครบวงจร พร้อมบูรณาการภาคเอกชนเพื่อช่วยเหลือเสริมสร้างอาชีพ ยกระดับรายได้-คุณภาพชีวิตให้กับสตรี

วันนี้ (18 ม.ค.56) เวลา 14.30 น. ณ ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ ทำเนียบรัฐบาล นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีแห่งชาติ (คกส.) ครั้งที่ 1/2556 โดยมีนางสาวศันสนีย์ นาคพงศ์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี นายทศพร เสรีรักษ์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ และผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุม สรุปสาระสำคัญดังนี้

ในวาระประธานแจ้งให้ที่ประชุมทราบ นายกรัฐมนตรีกล่าวกับที่ประชุมโดยสรุปว่า ขณะนี้ได้มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตี ที่ 314/2555 ลงวันที่ 3 ธันวาคม 2555 แต่งตั้งคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ เป็นที่ปรึกษาคณะกรรมการกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีแห่งชาติ  พร้อมกับที่ขณะนี้มีรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ที่มองว่าประเทศไทยอยู่ในส่วนที่ต้องจับตามองเรื่องการค้ามนุษย์ การค้าประเวณีเกี่ยวกับสตรีและเด็ก  ซึ่งรัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจในสถานการณ์นี้โดยได้บูรณาการทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเด็กและสตรีเพื่อแก้ปัญหานี้ทั้งหมด  โดยได้ร่วมกันแจ้งข่าวให้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องตรงกันกับต่างประเทศ รวมถึงบูรณาการการทำงานอย่างเต็มที่  ทั้งให้การช่วยเหลือผ่านศูนย์ประชาบดี ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  ที่เป็นศูนย์ให้การช่วยเหลือดูแลรับปัญหาตลอด 24 ชั่วโมง ขณะที่ในเรื่องของการพัฒนา  รัฐบาลได้เน้นนโยบายที่ให้มีมาตรการเร่งรัดในเรื่องต่าง ๆ ทั้งการลงตรวจพื้นที่อย่างใกล้ชิด เคร่งครัด โดยเจ้าหน้าที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ  และมีการประสานงานกับทุกจังหวัด  พร้อมกับจะมีการร่วมมือกับภาคเอกชน โรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ เพื่อร่วมกันดูแลการใช้แรงงานอย่างเหมาะสม โดยเฉพาะไม่ให้มีการใช้แรงงานเด็กที่ไม่เหมาะสมรวมถึงการหาที่พัก  ซึ่งมีการประสานงานบูรณาการให้ภาคประชาชนและภาคเอกชนได้มีส่วนร่วมด้วย

นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงการทำงานต่อยอดของกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีฯ ในปีนี้ ว่า การทำงานในภาพใหญ่ของรัฐบาลจะเน้นการทำงานเชิงบูรณาการมากขึ้น  จากที่ผ่านมาเป็นการทำงานในรูปแบบของกระทรวง  โดยต่อไปนี้จะปรับวิธีการทำงานตามช่วงอายุตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา  ซึ่งสิ่งที่จะดำเนินการในเรื่องแรกเป็นสิ่งที่ คกส. ให้ความสำคัญและเป็นหนึ่งในนโยบายของรัฐบาล คือการให้ กองทุนพัฒนาบทบาทสตรีฯ บูรณาการการดูแลช่วยเหลือเด็ก สตรี และผู้ด้อยโอกาส ที่เป็น One stop service อย่างแท้จริง  ซึ่งวันนี้กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ได้ดำเนินการในส่วนของการให้ความช่วยเหลือแล้ว  แต่จะมีการเพิ่มการบูรณาการกับเครือข่ายต่าง ๆ ทั้งกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ รวมถึงเครือข่ายเด็ก สตรี และผู้ด้อยโอกาสทั้งหมด ให้เกิดผลเป็นรูปธรรม นอกจากนี้ ในส่วนของสตรีที่ต้องการยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในด้านรายได้นั้น จะมีการบูรณาการกับภาคเอกชนเพื่อให้ความช่วยเหลือเสริมสร้างอาชีพให้กับสตรี ให้มีช่องทางยกระดับรายได้และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น  ดังนั้น จึงขอให้ฝ่ายเลขานุการได้วางแผนการปฏิบัติการในปีนี้เพื่อให้มีแนวทางการบูรณาการนำความช่วยเหลือจากเครือข่ายต่าง ๆ ที่มีอยู่  เพื่อช่วยเหลือกลุ่มสตรีที่ต้องการพัฒนารายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยให้กองทุนพัฒนาบทบาทสตรีฯ เป็นศูนย์กลางเป็นเครือข่ายเชื่อมโยง  ขณะเดียวกันในส่วนของสตรีที่เป็นผู้นำ จะมีการเร่งรัดการจัดกิจกรรมคัดเลือกสตรีที่เป็นผู้นำจากระดับตำบล ไปสู่ระดับอำเภอ ระดับจังหวัดและระดับประเทศต่อไป โดยอยากเห็นผู้นำสตรีในแต่ละสาขาอาชีพที่มีมากขึ้น  ซึ่งสภาสตรีฯ เครือข่ายสตรี จะสามารถช่วยกันพัฒนากลุ่มสตรีที่เป็นผู้นำ มีความรู้ความสามารถ ให้มีศักยภาพสามารถก้าวสู่เวทีโลก  โดยรัฐบาลจะผลักดันสนับสนุนสตรีกลุ่มนี้ให้กลับมาสอนถ่ายทอดวิชาให้กับสตรีในกลุ่ม  เพื่อการยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับสตรีไทยต่อไป

จากนั้น ในวาระเพื่อทราบและเพื่อพิจารณา ที่ประชุมได้มีมติรับทราบ อนุมัติและเห็นชอบในเรื่องต่าง ๆ ดังนี้

ที่ประชุมรับทราบความคืบหน้าของการดำเนินงานกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ที่ได้มีการดำเนินการจัดตั้งคณะกรรมการกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีจังหวัด/กรุงเทพฯ รวม 77 คณะ และคณะกรรมการกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีตำบล รวม 7,218 คณะ ครบทุกระดับ มีการจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีจังหวัด/ตำบล ครบทุกแห่ง มีการจัดประกวดตราสัญลักษณ์ (LOGO) กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการส่งผลงานประกวด โดยผู้ที่สนใจสามารถส่งผลงานเข้าร่วมประกวดได้ภายในวันที่ 29 มกราคม 2556 และจะมีการประกาศผล ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2556

นอกจากนี้ ยังได้มีการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพิ่มศักยภาพคณะกรรมการกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีจังหวัด/กรุงเทพฯ และเจ้าหน้าที่แล้ว เมื่อวันที่ 17-18 ธันวาคม 2555 ที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี จำนวน 1,500 คน การจัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพิ่มศักยภาพคณะกรรมการกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีตำบลและเจ้าหน้าที่จังหวัด เป้าหมาย 407 รุ่น 40,703 คน ดำเนินการระหว่างวันที่ 1 ธันวาคม 2555 - 28 มกราคม 2556 โดยศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนและสถาบันแห่งความเป็นเลิศ 11 แห่ง ของกรมการพัฒนาชุมชนเป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งขณะนี้ได้ดำเนินการ ไปแล้ว 252 รุ่น 26,709 คน คงเหลืออีก 155 รุ่น จำนวน 13,994 คน บัดนี้ คณะกรรมการกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีจังหวัดได้พิจารณาอนุมัติโครงการที่สมาชิกเสนอขอรับการสนับสนุน มีจังหวัดที่ได้รับอนุมัติโครงการแล้ว 24 จังหวัด จำแนกตามประเภทเงิน ได้ดังนี้

1. ประเภทเงินอุดหนุน จังหวัดอนุมัติแล้ว 9 จังหวัด 174 โครงการ เป็นเงิน 7,826,301 บาท สมาชิกได้รับประโยชน์ จำนวน 16,585 ราย โครงการที่จังหวัดพิจารณา ตัวอย่างเช่น โครงการเสริมสร้างสตรีไทยใส่ใจสิ่งแวดล้อม (ปทุมธานี) โครงการเสริมสร้างองค์ความรู้ด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตแก่สตรีผู้สูงอายุ (ปทุมธานี)

2. ประเภทเงินทุนหมุนเวียน จังหวัดอนุมัติแล้ว 20 จังหวัด 1,427  โครงการ เป็นเงิน 104,104,841 บาท สมาชิกได้รับประโยชน์ จำนวน 18,057 ราย ตัวอย่างเช่น โครงการทำที่ติดผมส่งต่างประเทศ (ปทุมธานี) โครงการจัดตั้งร้านค้าชุมชน (อุบลราชธานี)  โครงการผลิตข้าวสารคุณภาพดีในโรงสีชุมชน (กำแพงเพชร) โครงการปลูกมะนาวในวงบ่อซีเมนต์ (สุโขทัย) โครงการเย็บถุงกระดาษ (ปราจีนบุรี) โครงการอัดดอกยางรถยนต์ (ปราจีนบุรี) โครงการรวมทั้งสิ้น 1,427 โครงการ จำแนกเป็นโครงการด้านต่าง ๆ : ด้านการเกษตร 659 โครงการ ,ด้านอุตสาหกรรม 21 โครงการ,ด้านพาณิชย์และบริการ 132 โครงการ, ด้านคหกรรม 135 โครงการ และด้านศิลปกรรม 5 โครงการ

พร้อมกันนี้  ที่ประชุมมีมติอนุมัติและเห็นชอบดังนี้

1. อนุมัติงบประมาณเพิ่มเติมโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการเพิ่มศักยภาพคณะกรรมการกกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีตำบลและเจ้าหน้าที่จังหวัด ให้กรมการพัฒนาชุมชนดำเนินการประชุมฯ เพิ่มอีก 155 รุ่น  13,994 คน งบประมาณ 23,798,800 บาท ในปีงบประมาณ 2556

2. เห็นชอบการจัดสรรเงินให้กองทุนพัฒนาบทบาทสตรีจังหวัดและกรุงเทพมหานคร จัดสรรเงินให้ตามขนาดจังหวัดให้ครบ 100% มีดังนี้

- จังหวัดขนาดเล็ก  (ประชากรไม่เกิน 600,000 คน) เงินที่จัดสรรให้ 70 ล้านบาท จำนวน 35 จังหวัด

- จังหวัดขนาดกลาง (ประชากร 600,001 - 1,000,000 คน ) จัดสรรเงิน 100 ล้านบาท จำนวน 22 จังหวัด

- จังหวัดขนาดใหญ่ (ประชากร 1,000,001 คนขึ้นไป) จัดสรรให้ 130 ล้านบาท จำนวน 20 จังหวัด

3. สนับสนุนงบประมาณเพื่อดำเนินการโครงการฝึกอบรมวิทยากรกระบวนการส่งเสริมกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีกรุงเทพมหานคร เป็นเงิน 878,000 บาท

4. แต่งตั้งกรรมการในคณะกรรมการติดตามและสนับสนุนการดำเนินงานจังหวัด  โดยให้จังหวัดจัดให้มีคณะกรรมการสรรหา ทำหน้าสรรหาผู้แทนภาคราชการ ภาคเอกชน และผู้ทรงคุณวุฒิในเขตพื้นที่จังหวัด ในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน เพื่อให้ได้บุคคลที่เหมาะสมเป็นกรรมการติดตามและสนับสนุนการดำเนินงานจังหวัด โดยมีพัฒนาสังคม และความมั่นคงมนุษย์จังหวัดเป็นกรรมการและเลขานุการในคณะกรรมการสรรหาฯ  และเห็นชอบให้แต่งตั้งบุคคลตามบัญชีรายชื่อ เป็นกรรมการในคณะกรรมการติดตามและสนับสนุนจังหวัด ทุกจังหวัด ๆ ละ 15 คน

5. การขอความร่วมมือองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่ง สนับสนุนสถานที่เพื่อจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีตำบล และสนับสนุนการดำเนินงานของคณะกรรมการกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีจังหวัดและตำบล ในทุกจังหวัด/ตำบล ด้วย

6. การกำหนดชื่ออักษรย่อของ “กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี” คณะกรรมการกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีแห่งชาติ เห็นชอบและอนุมัติให้ใช้อักษรย่อ “กส.” เป็นอักษรย่อของ “กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี”

--------------------------------

กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษก

วิมลมาส รัตนมณี รายงาน

สมภัสสร คนแรงดี – จักรกฤช พันธุ์หอ ถ่ายภาพ

(ข้อมูลจากฝ่ายเลขานุการ คกส.)

 

 

รายการรัฐบาลยิ่งลักษณ์พบประชาชน

$
0
0
รายการรัฐบาลยิ่งลักษณ์พบประชาชน

รัฐบาลดำเนินนโยบายอย่างเต็มที่ เพื่อที่จะสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนทุกประเทศ พร้อมให้ความสำคัญกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีเพื่อจะช่วยส่งเสริมศักยภาพของสตรีไทยให้มีความเสมอภาค เท่าเทียมกันในทุกภาคส่วน และอยู่ระหว่างการจัดการอบรมคณะกรรมการให้ครบภายใน 1 มีนาคมนี้

 

วันนี้ (19 มกราคม 2556) เวลา 08.00 น. นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นางสาวศันสนีย์ นาคพงศ์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และนายขวัญชัย วงศ์นิติกร อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ในฐานะของผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีแห่งชาติ กล่าวในรายการรัฐบาลยิ่งลักษณ์พบประชาชนผ่านสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย และสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย กรมประชาสัมพันธ์

ช่วงที่ 1

นายธีรัตถ์ รัตนเสวี (พิธีกร) : สวัสดีครับ นี่คือรายการรัฐบาลยิ่งลักษณ์พบประชาชน วันนี้ผมธีรัตถ์ รัตนเสวี รับหน้าที่เป็นผู้ดำเนินรายการ เมื่อสักครู่ที่ผ่านมาท่านผู้ชมได้เห็นแล้วว่าปลายสัปดาห์ที่ผ่านมานั้น นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของญี่ปุ่นพร้อมคณะเดินทางมาเยือนประเทศไทย ทำไมประเทศญี่ปุ่นมาเยือนประเทศไทยเป็นอันดับต้น ๆ นอกจากนี้ยังคงมีเรื่องของผู้อพยพทางทะเลชาวโรฮิงยา รวมถึงการสู้คดีประสาทพระวิหาร ผู้ที่จะมาให้คำตอบกับเราได้ดีที่สุดคือท่านรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ คุณสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล สวัสดีครับ

นายสุรพงษ์ฯ : สวัสดีครับ

พิธีกร : เรียนถามว่าทำไมญี่ปุ่นตัดสินใจเลือกประเทศไทยเป็นประเทศต้น ๆ ที่เดินทางมาเยือน เช่น นายชินโสะ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ได้รับตำแหน่ง

นายสุรพงษ์ฯ : ดูจากตัวเลขเมื่อปีแล้ว ผมได้เปรียบเทียบการลงทุนของประเทศญี่ปุ่นที่มาลงทุนในภูมิภาคนี้ ทั้งประเทศไทย ประเทศมาเลเซีย ประเทศอินโดนีเซีย ประเทศฟิลิปปินส์ ประเทศสิงคโปร์ ปรากฎว่าประเทศญี่ปุ่นเลือกมาลงในประเทศไทยมากสุด ตัวเลขตั้งแต่เดือนมกราคม – เดือนพฤศจิกายน 2555 3.1 ล้าน หรือ 310,000 ล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขการลงทุนที่มากที่สุด นอกจากนั้นคนญี่ปุ่นที่มาอยู่ในประเทศไทยมากถึง 47,000 คน เมื่อเทียบกับประเทศอินโดนีเซีย ประเทศมาเลเซีย ประเทศฟิลิปปินส์ ประเทศเวียดนามและประเทศสิงคโปร์ คนญี่ปุ่นไปอยู่น้อยมาก อันนี้เป็นตัวที่ชี้ให้เห็นว่าประเทศญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับประเทศไทยเป็นอย่างมาก และโดยเฉพาะการลงทุนของประเทศญี่ปุ่นในประเทศไทย หลังจากที่เราได้แก้ไขปัญหาน้ำท่วมแล้วเสร็จ และจากนั้นรัฐบาลท่านนายกฯยิ่งลักษณ์ ได้ให้ความสำคัญในการที่จะบริหารจัดการน้ำเพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดน้ำท่วมในอนาคต ซึ่งในขณะนี้อยู่ในระยะหว่างขั้นตอนที่บริษัทสั่งการ หรือเสนอตัวเข้ามา เราได้ใช้งบประมาณที่คาดการณ์ไว้ถึง 350,000 ล้านบาท ก็เป็นอีกตัวหนึ่งที่ทำให้ประเทศญี่ปุ่นเกิดความเชื่อมั่นว่าถ้าเขามาลงทุนให้ประเทศไทยแล้วคงจะไม่ประสบปัญหาภัยธรรมชาติอย่างนั้นอีก และเมื่อวานในการหารือท่านนายกฯญี่ปุ่นก็ได้พูดกับนายกฯยิ่งลักษณ์ว่าถ้าเป็นไปได้ เขาสนใจที่จะได้มีส่วนในการที่จะร่วมบริหารจัดการน้ำหรือมีโอกาสที่จะได้เข้ามามีส่วนร่วมในโครงการนี้

พิธีกร : คือโครงการน้ำที่เราจะทำ 350,000 ล้านบาท อาจจะเป็นพื้นที่ใกล้กับนิคมอุตสาหกรรมที่ญี่ปุ่นอยู่มาก ๆ เช่น จังหวัดอยุธยา เป็นต้น คือประเทศญี่ปุ่นแสดงความจำนงค์ว่าถ้ามีการเปิดโอกาสให้ญี่ปุ่นจะเข้ามา

นายสุรพงษ์ฯ : ใช่ ถ้าเขามีโอกาสชนะการประกวดราคามันก็จะเป็นสิ่งที่สร้างความเชื่อมั่นในกับนักลงทุนญี่ปุ่นมากขึ้นอีก

พิธีกร : เหมือนกับว่าคนญี่ปุ่นทำแล้ว และอาจจะเชิญชวนคนญี่ปุ่นที่ยังไม่เคยลงทุนในประเทศไทยมาลงทุนอีก

นายสุรพงษ์ฯ : ก็เป็นสิ่งที่ดี และวันนี้ถ้าเราดูทางภัยธรรมชาติค่อนข้างที่จะรุนแรง ในพื้นที่ต่าง ๆ อย่างกรณีน้ำท่วมที่ประเทศอินโดนีเซีย ทางประเทศญี่ปุ่นเองก็เกิดแผ่นดินไหวอยู่ตลอดเวลา เขาก็มองหาแหล่งใหม่ที่จะมาตั้งนิคมอุตสาหกรรม หรือทำอุตสาหกรรมในประเทศนั้น ๆ และเขาก็มองว่าประเทศไทยเราเป็นศูนย์กลางของอาเซียน เรามีนโยบาย มีโครงการที่จะเชื่อมโยง เหนือ ใต้ ตก ออก เพื่อให้เป็นจุดศูนย์กลางของอาเซียนจริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐบาลไทย เราประกาศใช้เงินถึง 2 ล้านล้านบาทใน 5 ปีที่จะทำโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้เขาก็ยิ่งสนใจโดยเฉพาะรถไฟความเร็วสูง ซึ่งปรากฎว่าประเทศญี่ปุ่น ตอนที่ท่านนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ไปเยือนก็ได้มีโอกาสไปนั่งรถไฟความเร็วสูงของประเทศญี่ปุ่นและท่านนายกฯ ได้มีโอกาสเห็นว่ามีสินค้า OTOP อยู่บนรถไฟ มีการตกแต่งรถไฟ

พิธีกร : จะมีการพัฒนาเป็นรถไฟ OTOP มีสินค้า OTOP มีไทยปิ่นโตที่เราได้เห็นตัวอย่าง

นายสุรพงษ์ฯ : ใช่ก็เป็นแนวคิด ซึ่งเราก็สามารถที่จะประสานร่วมมือกัน และเราก็อยากให้ทางญี่ปุ่นเสนอสิ่งที่ดีที่สุด โดยคำนึงถึงความคุ้มค่าและผลประโยชน์ต่าง ๆ และมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับคนไทยด้วย สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ก็เป็นสิ่งที่ได้หยิบยกขึ้นมาพูดกัน และท่านนายกฯ ยิ่งลักษณ์ กับ ท่านนายกฯ ญี่ปุ่นก็ได้พูดถึงความร่วมมือด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์คือหมายความว่าทางญี่ปุ่นเองเขาจะมาลงทุนในประเทศไทย เขาเกรงว่าการที่เราผลิตนักศึกษาหรือวิศวกรขึ้นมาไม่สามารถที่จะทำงานให้กับโรงงานของญี่ปุ่นได้ (โรงงานญี่ปุ่นในประเทศไทย)

พิธีกร : ได้มีการหารือว่าหลักสูตรที่เราจะฝึกอบรมบุคลากรทรัพยากรบุคคลที่จะโตเป็นหลักเศรษฐกิจของไทยนี้น่าจะมีการพัฒนาหลักสูตรให้สอดคล้องกับโรงงานงานอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นที่จะมาลงทุนในประเทศไทย แสดงว่า 2 ประเทศอาจจะมีการหารือร่วมกันว่าควรพัฒนาหลักสูตรฝึกน้อง ๆ คนไทยให้สามารถไปทำงานโรงงานญี่ปุ่นได้ทันที

นายสุรพงษ์ฯ : ถึงขั้นอาจจะต้องเปิดโรงเรียนหรืออาชีวศึกษาร่วมกัน เช่นกรณีที่เราเปิดเทคโนโลยีไทย-เยอรมัน เราอาจจะมีไทย-ญี่ปุ่นขึ้นมาเป็นรูปแบบใหม่ และให้น้อง ๆ ที่จบอาชีวะสามารถจบแล้วสามารถออกมาทำงานได้เลย

พิธีกร : คือตอนนี้โรงงานญี่ปุ่นรอเราอยู่เลยก็เท่ากับว่าน้อง ๆ ที่จบมามีงานทำทันที อาจจะต้องมีการเรียนภาษาญี่ปุ่นเพิ่มเติมหรือว่าโนว์ฮาวที่ญี่ปุ่นใช้ด้วย เท่ากับว่าเด็ก ๆ ไทยก็เรียนรู้ว่าเทคโนโลยีญี่ปุ่นไปถึงไหนเป็นการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากญี่ปุ่นสู่ไทยด้วย อันนี้มีกำหนดการหรือไม่ว่าจะเห็นเมื่อไหร่

นายสุรพงษ์ฯ : เราก็เริ่มต้นให้เร็วที่สุดเพราะว่าวันนี้เรามีข้อตกลงหลาย ๆ เรื่องร่วมกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อวานได้มีการหยิบยกถึงเป้าหมายที่เราได้ประกาศตัวร่วมกับทางญี่ปุ่นว่าเราจะเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจร่วมกัน เรามีเป้าหมายว่าปีนี้ เรามีการค้าขายระหว่างกัน 65,000ล้านบาท ในปี 2560 เราจะให้มีการซื้อขายระหว่างกันถึง 100,000 เหรียญ ปีหนึ่งเพิ่มขึ้นสัก 10-20% เราก็มีเป้าหมายที่ตั้งไว้แล้ว และเราก็จะให้ความร่วมมือที่จะทำเป้าหมายนี้ให้สำเร็จไปได้ ซึ่งเป็นเป้าหมายที่ไม่ยาก และเราได้พูดถึงความร่วมมือทางทหาร ทางญี่ปุ่นเองเขาก็สนใจที่จะมาฝึกคอบบร้าโกลด์ที่ทางทหารได้มีการฝึกร่วมผสมระหว่างประเทศสหรัฐอเมริกา ประเทศจีน ญี่ปุ่นเขาอยากจะมีส่วนร่วมในการฝึกอันนี้ และเขาก็พูดถึงการฝึกเพื่อป้องกันภัยพิบัติทางธรรมชาติด้วย ซึ่งจะอยู่ในโครงการคอบบร้าโกลด์

พิธีกร : คือการฝึกคอบบร้าโกลด์ไม่ใช่เพียงแค่เป็นการฝึกทางทหารแต่เพียงอย่างเดียวแต่ว่าปัจจุบันเราเห็นว่าโลกเปลี่ยนแปลงมีเรื่องของภัยธรรมชาติมากขึ้น เมื่อเกิดเหตุการณ์ทหารก็จะมีบทบาทในการไปดูแลเรื่องภัยธรรมชาติ ช่วยเหลือประชาชน เพราะฉะนั้นการฝึกคอบบร้าโกลด์ที่อาจจะมีทั้งประเทศไทย ประเทศอเมริกา ประเทศจีน ประเทศญี่ปุ่นเข้ามา บุคลากรทางทหารมีความเข้าใจของปัญหาภัยธรรมชาติด้วย

นายสุรพงษ์ฯ : ถูกต้อง เรามีการฝึกร่วมกัน ญี่ปุ่นให้ความสนใจ นอกจากนั้นทางญี่ปุ่นก็พูดถึงความมั่นคงทางทะเล ซึ่งเขาก็เป็นห่วงเรื่องทะเลจีนใต้ ซึ่งทางอาเซียนเองก็มีข้อพิพาทกับทางประเทศจีน ซึ่งเราบังเอิญเป็นประเทศผู้ประสานงาน เราก็สร้างความมั่นใจให้ทางญี่ปุ่นได้เข้าใจว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องภายในภูมิภาค และเราต้องการให้คู่พิพาทกันได้ตกลงกันพูดจากันโดยสันติ พูดถึงเรื่องในคาบสมุทรเกาหลี และสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ เราก็อธิบายเขาให้เกิดความเข้าใจที่ผมสนใจมากที่สุดเรื่องกรณีท่าเรือน้ำลึกทวายที่เมียนมาร์

พิธีกร : สรุปแล้วญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับภูมิภาคอาเซียนมากในการที่ทั้ง 10 ชาติรวมกันเป็นอาเซียน และการที่ไทยเป็นประเทศที่ญี่ปุ่นลงทุนมากที่สุด มีคนญี่ปุ่นอยู่มากที่สุด ถือว่าเป็นการกระชับความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศที่เราไม่เคยมีนายกฯ ญี่ปุ่นเดินทางมาเยือนเกือบ 11 ปี

นายสุรพงษ์ฯ : ครั้งล่าสุดที่เยือนก็สมัยท่านอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร วันนี้เขากลับมาเยือนท่านนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็ถือว่าเป็นนิมิตรหมายที่ดี เราจะได้ก้าวเดินกันต่อไป และโดยเฉพาะการที่นายกฯ ญี่ปุ่นได้มีโอกาสเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งนายกฯ ญี่ปุ่นปลาบปลื้มมาก ซึ่งผมคิดว่าเป็นสิ่งที่ทุกคนและทั้งโลกชื่อชมพระองค์ของเรา และอีกเรื่องหนึ่งคือเรื่องน้ำ พอดีที่จังหวัดเชียงใหม่จะจัด World Asia — Pacific Water Summit ที่ประเทศญี่ปุ่นเป็นคนริเริ่มด้วย เราก็ได้เชิญท่านนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นมาประชุมร่วมที่เชียงใหม่ เป็นเจ้าภาพประมาณเดือนพฤษภาคม ซึ่งในงานนี้เราจะมีผู้นำหลาย ๆ ประเทศมา และจะมีการจัดนิทรรศการเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำโดยเฉพาะผู้ที่เสนอตัวเข้ามามีส่วนร่วมในการประมูลที่มีการดำเนินงานในขณะนี้ เขาจะต้องเอาโมเดลที่เขาออกแบบมาโชว์ให้คนได้เห็น ผมคิดว่าคนไทยจะได้รับประโยชน์กัน และคนที่มาดูก็จะได้เห็นแนวคิดของประเทศต่าง ๆ ที่ได้เสนอตัวเข้ามาแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในประเทศไทย

พิธีกร : เป็นงานใหญ่ในช่วงของกลางปีนี้ แต่ว่าปัญหาเฉพาะด้านที่เราพบในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาคือกลุ่มผู้ที่อพยพทางเรือชาวโรฮิงยา จุดยืนของรัฐบาลไทยในการที่จะดูแลผู้อพยพกลุ่มนี้เป็นอย่างไร

นายสุรพงษ์ฯ : ต้องเล่าให้ฟังแบบนี้ ที่จริงแล้วเรื่องนี้เป็นเรื่องของสภาความมั่นคงแห่งชาติ บังเอิญกระทรวงการต่างประเทศได้มีส่วนเข้าไปขอเชิญประชุมกัน เมื่อวันที่ 14 ที่ผ่านมา ในที่ประชุมก็ได้ข้อสรุปว่าเราต้องมองผู้อพยพชาวโรฮิงยาเป็นคนที่หลบหนีเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายต้องตีความแบบนั้น และทุกอย่างก็ต้องดำเนินการไปตามกฎหมายไทย แต่การดูแลเบื้องต้นเราก็ตกลงกันได้ว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกหน่วยงานก็จะใช้งบประมาณให้การสนับสนุนไปก่อนในระยะสั้น สำหรับระยะยาวนั้น เราก็ต้องมีการพูดคุยกันกับองค์กรระหว่างประเทศด้วยว่าเขาจะเข้ามามีส่วน มีบทบาทได้มากน้อยเพียงใด และของเราเองเราจะต้องดำเนินการอย่างไรบ้าง ที่จะต้องพิสูจน์หรือแยกกลุ่มออกมาด้วยว่ากลุ่มนั้นจะมีโทษหรือไม่เป็นกลุ่มที่มีภัยต่อประเทศหรือไม่ เราต้องทำทุกอย่างตามขั้นตอน แต่ท่านนายกฯ ยิ่งลักษณ์ก็ให้ความสำคัญ เรื่องนี้ก็บอกให้ทุกหน่วยงานดูแลให้ความสะดวก ให้การรักษาพยาบาลโดยยึดมนุยษยธรรมไว้ เขาเป็นผู้ตกยากลำบากมาในการที่จะผลักดันออกไปทันทีเลยนั้นคงไม่ใช่สิ่งที่เราต้องการทำ เราต้องทำให้ทุกอย่างเป็นไปด้วยความเรียบร้อย และให้ความสะดวกก่อน การที่จะให้สถานที่พักพิงนั้นเดี๋ยวคงต้องมาพูดคุย ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศ เมื่อวานผมได้ประชุมภายในให้ปลัดกระทรวงการต่างประเทศติดต่อกับทางเลขาฯ สภาความมั่นคงแห่งชาติเพื่อที่จะร่วมประชุมกันอีกครั้งหนึ่งเพื่อที่จะวางท่าทีที่จะพูดคุยกับองค์กรระหว่างประเทศเพราะองค์กรระหว่างประเทศ มีอยู่หลายองค์กร อย่างองค์กรแรกคือองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน(IOM) และกาชาดสากล (ICRC) นอกจากนั้นยังมีสำนักงานค่าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ นอกนั้นยังมีองค์การยูนิเซฟก็มีหลาย ๆ หน่วยงานด้วยกัน ซึ่งก็ต้องพูดคุยกัน

พิธีกร : ดังนั้นในการดูแลพวกที่อพยพเข้ามา อย่างที่ท่านรองฯ ได้กล่าวตั้งแต่ตอนต้นว่าดูการใช้กฎหมายจำแนกเป็นเฉพาะกลุ่ม และก็ดูแลอย่างเต็มที่ก่อน มีการวิเคราะห์หรือจับตาดูว่าโรฮิงยาบางส่วนอาจจะเกี่ยวพันกับขบวนการค้ามนุษย์ เราจะมีการดูแลอย่างไรและป้องกันอย่างไรที่จะทำให้ไทยนั้นไม่เกี่ยวพันกับขบวนการค้ามนุษย์หรือมีการเฝ้าระวังอย่างเต็มที่

นายสุรพงษ์ฯ : เรื่องการค้ามนุษย์เป็นสิ่งที่รัฐบาลเราได้ให้ความสำคัญเดี๋ยวผมจะพูดถึงเรื่องการค้ามนุษย์ที่เราโดนกล่าวหาจากสังคมโลกจนเราอาจจะต้องตกระดับ ที่ทางอเมริกาออกมาว่าอยู่ในระดับ 2 เฝ้าระวังหรือระดับ 3 ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกกุ้ง สิ่งทอ หรืออื่น ๆ ที่เราไปขายในประเทศยุโรปหรือในอเมริกา เรื่องนี้เป็นสิ่งที่เราระมัดระวัง เพราะฉะนั้นเราต้องแยกแยะออกและวันก่อนบังเอิญผมเจอกับทางผู้บัญชาการตำรวจตรวจคนเข้าเมืองก็ได้มีโอกาสกราบเรียนท่านไปว่าขบวนการที่ดำเนินการเรื่องค้ามนุษย์ เราจะต้องปราบให้หมดและกรณีที่มีชาวโรฮิงยากลุ่มนี้เข้ามาปรากฎว่าคนที่ให้สถานที่พักพิงหรือตามที่เขาให้ข่าวว่ามีการใช้รถขนอำนวยความสะดวกต่าง ๆ เหล่านี้ ซึ่งมันอาจจะเข้าข่ายเป็นการค้ามนุษย์ เพราะเขาไปเรียกเงินจากเขาและนำเข้าไปกักขังไว้ เราก็ต้องดูเรื่องเหล่านี้ด้วย

พิธีกร : เมื่อกลางสัปดาห์ท่านได้พาทูตหลายสืบชาติไปดูศูนย์ที่จะจับตาดูการค้ามนุ๋ษย์ด้วยว่าเป็นอย่างไรบ้าง

นายสุรพงษ์ฯ : เรื่องมาเริ่มแบบนี้ตอนที่ผมเข้ามารับตำแหน่ง เมื่อปีแล้วผมก็ไปเยือนอเมริกาอย่างเป็นทางการ ในขณะที่ผมไปเยือนเราก็ได้ยื่นรายงานฉบับหนึ่งเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ไปให้กับองค์ที่ดูแลเรื่องการค้ามนุษย์ส่งไปให้เขา และในเอกสารฉบับนี้จะพูดถึงแผนปฏิบัติการในการที่จะปราบปรามการค้ามนุษย์ การใช้แรงงานเด็ก การทารุนกรรมแรงงานต่าง ๆ ที่ประเทศไทยเราถูกโจมตีมาตลอดเวลาว่าเราใช้แรงงานเด็ก กดขี่ ทำให้กุ้งของเราขายในต่างประเทศได้ถูก เพราะเราใช้แรงงานราคาต่ำก็เป็นสิ่งที่เขาบอกมาว่าถ้าเราไม่แก้ไขปีหน้าถ้าเขาปรับระดับลง ระดับที่ 2 และเฝ้าระวัง ซึ่งเป็นมา 2 ปีแล้ว พอผมมาปีที่ 3 ผมก็ไปขอท่านฮิลลารี่ คลินตัน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ ว่าเนื่องจากรัฐบาลนี้เพิ่งเข้ามารับงานใหม่ขอเวลาให้รัฐบาลได้พิสูจน์ตัวเอง เราจะดำเนินการตามรายงานที่เรายื่นไปตามแผนการต่าง ๆ ซึ่งท่านก็ตกลงว่ายินดีที่จะช่วยไม่ให้ปรับระดับลง เราก็อยู่ในระดับ 2 เฝ้าระวัง 3 ปีติดต่อกัน ซึ่งไม่เคยมีมาก่อน ผมได้ไปเชิญทูต 20 กว่าประเทศ โดยเฉพาะทูตอเมริกา ท่านก็ให้ความเมตตามาร่วม ทูตอังกฤษ ทูตเยอรมัน ทูตฝรั่งเศล ทูตฮังการี่ หลาย ๆ ประเทศก็ไปกันวันนั้น ก่อนไปผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติคนปัจจุบัน ท่านดำเนินการเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ ท่านมีศูนย์ปฏิบัตการของท่านอย่างไร ท่านก็นำเสนอ และมีการวีดิโอลิงค์เข้ามาหลาย ๆ จังหวัดเพื่อที่จะมีการสั่งการกันได้ให้เขาได้เห็นภาพ และทุกอย่างเป็นรูปธรรมหมด จากนั้นเราก็ไปดูกันที่พื้นที่จริง

พิธีกร : พอพูดถึงอาเซียนที่เป็นประเทศเพื่อนบ้านเราอย่างเมียนมาร์ อีกประเทศหนึ่งคือกัมพูชาข้อพิพาทระหว่างไทยกับกัมพูชาเรื่องพื้นที่เขาพระวิหาร 15 เมษายนนี้ เราอาจจะได้เห็นคำสั่งของศาลอย่างทางกระทรวงการต่างประเทศเตรียมการอย่างไรไว้บ้างในการต่อสู้

นายสุรพงษ์ฯ : ต้องแก้เล็กน้อยว่าวันที่ 15 เมษายน ยังไม่มีคำตอบคือวันที่ 15-19 เมษายน เราจะต้องไปสู้คดีในลักษณะที่ทุกคนทนายก็พูดให้ศาลผู้พากษาฟังทั้งสองฝ่าย 4 วัน ไทยหนึ่งวัน กัมพูชาหนึ่งวัน อีกวันหนึ่งก็ไทย อีกวันก็กัมพูชา 4 วัน จากนั้นศาลก็จะไปนั่งพิจารณากันเองไปคุยกันประมาณ 6 เดือน ประมาณเดือนตุลาคมช่วงปลายปีก็จะมีคำตัดสินออกมา การเตรียมการเริ่มตั้งแต่ต้น พอเรื่องนี้เข้าสู่ศาลทีมทนายที่ตั้งขึ้นมาก็ตั้งแต่รัฐบาลที่แล้ว เขาก็ได้ว่าจ้างทีมทนายขึ้นมา โดยฝรั่งซึ่งในโลกนี้มีอยู่ 50 คนที่เก่งทางด้านนี้ เราก็จ้าง 3 คน กัมพูชาก็จ้าง 3 คน ส่วนหัวหน้าทีมทนายเราใช้ท่านทูตวีรชัย พลาศรัย เอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮก เป็นหัวหน้าทีมทนาย แต่สำหรับทางกัมพูชาเขาก็ใช้ท่านนายฮอร์ นัมฮง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศราชอาณาจักรกัมพูชา เป็นหัวหน้าทีมทนาย เป็นมาแบบนี้ตั้งแต่รัฐบาลที่แล้วเรื่อยมา พอรัฐบาลผมเข้ามารับก็ต้องใช้คณะเดิม เพราะเขาได้ศึกษาเตรียมข้อมูลต่าง ๆ มาตลอดรู้เรื่องดีทั้งหมดก็ไม่มีการเปลี่ยน ปีที่แล้วมีการนำเสนอเป็นเขียนจดหมายไปส่ง และศาลก็รับไป ก่อนไปทุกครั้งก็จะต้องมีการประชุมทีมกฎหมาย คณะทำงาน และไปอธิบายให้ท่านนายกฯ ฟัง ให้ทีมกฎหมายของท่านนายกฯ ได้รับทราบด้วย และมีข้อเสนอแนะอะไรไป ทีมกฎหมายของเราที่เป็นฝรั่งก็จะทำสิ่งเหล่านั้นไม่ว่าทางทหาร กระทรวงกลาโหมก็เช่นกันก็ให้ข้อมูลเขามาด้วย ซึ่งทุกฝ่ายให้ข้อมูลเขามาหมด ทางนี้ก็ไปดูรูปคดีที่จำเป็นต้องสู้ ครั้งนี้ก็เช่นกันเราก็มีการประชุม 2-3 ครั้งแล้วเพื่อที่จะวางท่าทีให้กับทีมทนายที่จะไปสู้ในวันที่15-19 เมษายน และตอนนี้ได้ข้อสรุปอีกว่าวันที่ 5 กุมภาพันธ์ หัวหน้าทีมทนายก็จะมาอธิบายให้กับทาง พลอากาศเอก สุกำพล สุวรรณทัต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และท่านนายกฯ จะนั่งเป็นประธานฟัง และมีกระทรวงการต่างประเทศ กฤษฎีกา อีกรอบหนึ่ง และจากนั้นวันที่ 7-9 กุมภาพันธ์ ท่านพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งท่านเป็นนักกฎหมาย ท่านก็จะพาอีกทีมกลับไปคุยกับทีมฝรั่งอีกรอบหนึ่ง จากนั้นทีมฝรั่งก็จะได้ข้อสรุปท่าทีที่ชัดเจนว่าจะเสนออะไรก็นำกลับเข้ามาที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ในปลายเดือนมีนาคม หรือต้นเมษายน ผมกระทรวงการต่างประเทศก็จะเสนอท่าทีนี้เข้า ครม.เพื่อขออนุมัติแนวทางที่จะนำไปสู้ในชั้นศาล จากนั้นอนุมัติเสร็จ เขาก็เตรียมการเดือนเมษายน วันที่ 15 ผมก็จะนำคณะไป คราวนี้ก็จะพาสื่อมวลชนไปด้วย เพราะว่าจะได้เสนอข่าวในทิศทางเดียวกัน หรือจะได้เข้าใจตรงกัน เราได้เตรียมไว้หมดแล้วและบางเรื่องก็ไม่สามารถพูดได้เพราะอย่างผมออกรายการวันนี้ทางกัมพูชาเขาก็เห็น ถ้าผมไปเล่ามากเขาก็จะเห็นแนวทางการต่อสู้ของเราต้องเล่าแค่นี้

พิธีกร : อยากให้คนไทยเข้าใจอย่างไรเกี่ยวกับเรื่องปราสาทพระวิหาร

นายสุรพงษ์ฯ : ผมจัดเตรียมไว้หมดแล้วครับ จะมีสารคดีออกมา มีการชี้แจงให้ประชาชนเข้าใจโดยผ่านกระบวนการไปยังท่านผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ลงไปยังกำนัน ผู้ใหญ่บ้านไปถึงหมู่บ้าน และยังมีเอกสารประกอบไปให้ทุกท่านเข้าใจ นอกจากนั้นจะมีการฉายเรื่องความเป็นมา ทุกอย่างเล่าชัดเจนเพราะวันนี้เราต้องเข้าใจตรงใจ และในที่สุดเกิดผลออกมาอย่างไรเราก็ต้องนำเสนอว่า ถ้าผลออกมาเราจะปฏิบัติแบบนี้ เราไม่ปฏิบัติจะเกิดอะไรขึ้นกับประเทศไทย ถ้าเราปฏิบัติจะเป็นอย่างไรก็ต้องให้คนไทยเข้าใจตรงกัน เพราะฉะนั้นผมไม่อยากเห็นว่าตอนนี้มีบางกลุ่มออกมาใช้เป็นประเด็นทางการเมือง เรียกร้องปลุกระดมให้เกิดความคลั่งชาติหรือรักชาติจนมากเกินไปแบบคราวที่แล้ว ในที่สุดก็ต้องรบกัน และคนที่อาศัยอยู่ในบริเวณแนวชายแดนนั้นเขาก็ได้รับความเดือดร้อน เพราะคนที่ไปเรียกร้องก็ไม่ได้อยู่บริเวณนั้น พอเรียกร้องเสร็จก็กลับไปนอนบ้านตัวเอง ซึ่งสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้มันหมดยุคแล้ว ผมคิดว่าวันนี้สื่อต่าง ๆ เข้าใจและเชื่อว่าการที่สื่อให้ความสนใจมาตั้งแต่ต้นปีก็เป็นสิ่งที่ดีสังคมไทยต้องอยู่ได้ด้วยเหตุด้วยผล และเรากับกัมพูชายังไงเราก็ต้องอยู่กับเขาต่อไป โอกาสที่จะเกิดแผ่นดินไหว หรือแยกดินแดนไทยกับกัมพูชาคงไม่เกิดขึ้น

พิธีกร : และยิ่งเราจะรวมกันเป็นประชาคมเศรษฐกิจด้วยการเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันไม่ใช่แค่ไทยกับกัมพูชาแต่ว่าทุกชาติในอาเซียน

พิธีกร : ครับ ขอบคุณท่านรองนายกรัฐมนตรีมากครับ ท่านรองนายกรัฐมนตรีสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล ได้เล่าให้เราฟังครับว่าประเทศไทยในขณะนั้นได้มีการดำเนินนโยบายอย่างเต็มที่ เพื่อที่จะสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนทุกประเทศ นั้นเองทำให้ประเทศญี่ปุ่นนั้นเดินทางมาเยือนประเทศไทยเป็นลำดับต้น ๆ หลังจากที่นายกฯอาเบะ นั้นได้รับตำแหน่ง นอกจากนี้รัฐบาลยังได้มีการเตรียมการในการที่จะไปสู้คดีเรื่องเขาพระวิหารแล้วในช่วงเดือนเมษายนนั้นก็คงจะได้เห็นกันว่าจะมีแนวทางอย่างไร แต่ว่าทุกคนควรจะมีความเข้าใจร่วมกันและท้ายที่สุดแล้วการเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขนั้นเป็นสิ่งที่ดีที่สุดที่จะทำให้ประเทศชาตินั้นเติบโตไปได้อย่างเข้มแข็งด้วย ช่วงนี้พักกันสักครู่ก่อนนะครับ ช่วงหน้ากลับมาคุยกันเรื่องกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีครับ

ช่วงที่ 2

พิธีกร : กลับสู่ช่วงที่ 2 ของรายการรัฐบาลยิ่งลักษณ์พบประชาชนนะครับ มีคำถามว่าขณะนี้กองทุนพัฒนาบทบาทสตรีมีความคืบหน้าแค่ไหนอย่างไรแล้วบ้าง เรามาสอบถามสองท่านครับ ท่านแรกท่านศันสนีย์ นาคพงศ์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และท่านที่สองคุณขวัญชัย วงศ์นิติกร อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ในฐานะของผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีแห่งชาติ สวัสดีทั้งสองท่านครับ

นางสาวศันสนีย์ฯ : สวัสดีค่ะ

นายขวัญชัยฯ : สวัสดีครับ

พิธีกร : เรียนถามท่านรัฐมนตรีฯ ก่อนครับว่าเห็นว่ามีการประชุมล่าสุดของกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีเป็นอย่างไรบ้างครับ

นางสาวศันสนีย์ฯ : การประชุมที่เพิ่งผ่านไปล่าสุดนั้นเป็นการประชุมคณะกรรมการกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีแห่งชาติ ครั้งที่ 3 ซึ่งท่านนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีความคืบหน้าหลายประการที่มีการมารายงานให้ที่ประชุมได้ทราบและมีการพิจาณาในเรื่องสำคัญ ๆ หลายเรื่อง

พิธีกร : โดยในการพิจาณาในครั้งนี้เห็นว่ามีการแต่งตั้งที่ปรึกษาเพิ่มเติมด้วย

นางสาวศันสนีย์ฯ : ใช่ค่ะ เรามีที่ปรึกษาซึ่งเป็นคนมีความสามารถ มีประสบการณ์ วันนี้คือคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ก่อนหน้านี้ก็จะมีคุณปวีณา หงสกุล

พิธีกร : ซึ่งจากตรงนี้เองมีการติดตามความคืบหน้า ท่านนายกรัฐมนตรีมีการสั่งการหรือเน้นย้ำเรื่องใดเป็นพิเศษไหมครับว่า คณะกรรมการจะต้องเดินหน้าเรื่องใดบ้าง

นางสาวศันสนีย์ฯ : ท่านนายกฯ เองก็เน้นย้ำให้วัตถุประสงค์ของกองทุนนี้ ซึ่งต้องการที่จะช่วยทำให้สตรีไทยนั้นได้พัฒนาในเรื่องของโอกาสที่จะสร้างรายได้ อาชีพ ในเรื่องของการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ของสตรีในเรื่องพัฒนาศักยภาพ รวมไปถึงให้เครือข่ายได้เข้ามามีบทบาทในการร่วมดูแลผู้หญิง เรื่องของผู้หญิงด้อยโอกาส และเรื่องพัฒนาศักยภาพภาวะผู้นำของผู้หญิงด้วย

พิธีกร : เรื่องของกฎระเบียบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับผู้หญิงมีการพูดถึงด้วยไหมครับ

นางสาวศันสนีย์ฯ : ท่านนายกฯ ให้ความสำคัญมาก ให้ความสำคัญเรื่องความเสมอภาค ความทัดเทียม เรียกว่าครอบคลุมเลยก็ว่าได้ในเรื่องของผู้หญิงที่ควรจะได้รับ

พิธีกร : แสดงว่าอีกไม่นาน บทบาทของกองทุนนี้จะไม่ใช่เพียงแค่กองทุนที่ไปช่วยผู้หญิงมีอาชีพอย่างเดียว แต่กำลังพูดถึงการพัฒนาศักยภาพ การพัฒนาชีวิตความเป็นของผู้หญิงโดยรวมทั้งหมด

นางสาวศันสนีย์ฯ : ใช่ค่ะ เรื่องคุณภาพชีวิตด้วย

พิธีกร : ซึ่งทางท่านอธิบดีในฐานะเป็นผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีแห่งชาติ มีบทบาทอย่างไรบ้างในการที่จะลงไปยังจังหวัดต่าง ๆ ขณะนี้จังหวัดต่าง ๆ มีความเข้าใจเกี่ยวกับกองทุนนี้มากน้อยแค่ไหนแล้วครับ

นายขวัญชัยฯ : โดยหลักการ ทางผมในฐานะผู้อำนวยการสำนักกองทุนฯ ก็ได้รับบัญชาจากท่านรัฐมนตรี เนื่องกองทุนสตรีมีกองทุน มีคณะกรรมการอยู่ในระดับจังหวัด ระดับตำบล แต่อำเภอไม่มี ตำบลจะคิดแผนงานและโครงการขึ้นมา มีกรรมการซึ่งมาจากผู้ทรงคุณวุฒิก็ดี มาจากการเลือกตั้งตามหมู่บ้าน คณะกรรมการจังหวัดก็จะเป็นผู้พิจารณาอนุมัติ เงินที่เราส่งไปก็จะไปอยู่กับคณะกรรมการจังหวัด กลุ่มสตรีถ้าเป็นกรณีบุคคลธรรมดาก็ 5 คนรวมกันเป็นกลุ่มเพราะท่านนายกฯ อยากให้ต่อยอดว่าการพัฒนาสร้างงาน สร้างอาชีพ รายได้นั้นให้สามารถที่จะไปต่อยอดงานอาชีพเพิ่มรายได้ ส่วนถ้าเป็นองค์กรก็ยื่นได้เลย เป็นองค์กรสตรีที่ขึ้นบัญชีไว้กับกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์สามารถยื่นได้เลย ถามว่าเขาได้มีความรู้เรื่องนี้หรือยัง เราก็มีการอบรมสัมมนาโดยท่านรัฐมนตรีฯ ศันสนีย์ ในระดับจังหวัดประมาณ 1,500 กว่าคน ให้เข้าใจถึงวัตถุประสงค์ การจัดตั้งกองทุนมีเป้าหมายอย่างไร ส่วนระดับตำบลเรากำลังมีการอบรมอยู่ ตำบลละ 5 คน เพื่อเข้าใจบทบาทตระหนักในความเป็นสตรี เพราะท่านนายกรัฐมนตรีหวังว่าผู้หญิง 33 ล้านคนนั้น ถ้าออกมาพัฒนาประเทศจะเป็นพลังที่มหาศาลและเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ เราไม่ควรจะปล่อยให้การพัฒนาประเทศของเราขึ้นอยู่กับแค่ 2 - 3 ล้านคน แต่ถ้าออกมา 20 – 30 กว่าล้านนั้น จะพัฒนาบ้านเมืองได้ยิ่งใหญ่มาก

พิธีกร : ตอนนี้คืออยู่ในระหว่างการทำความเข้าใจในส่วนของตำบลเพราะเห็นว่าการประชุมของจังหวัดเสร็จหมดแล้ว ใช้เวลามากน้อยแค่ไหนที่จะให้ความรู้หรือการอบรมของส่วนตำบลจะแล้วเสร็จ

นางสาวศันสนีย์ฯ : เหลืออีกประมาณ 155 รุ่น เข้าใจว่าภายในเดือนกุมภาพันธ์น่าจะแล้วเสร็จ แต่อย่างไรก็ตามอยากจะให้เห็นความคืบหน้าของกองทุนนี้ ถึงในบางจังหวัดที่มีความพร้อมคืออบรมครบถ้วนแล้วทั้งในส่วนของตำบลและจังหวัดก็สามารถที่จะอนุมัติเงินในส่วนที่เราได้อนุมัติลงไปก่อนเป็นก้อนแรกเมื่อเดือนกรกฎาคมได้ จะมี 9 จังหวัดที่อนุมัติในส่วนของเงินอุดหนุนลงไปแล้วและ 20 จังหวัดที่อนุมัติเงินในประเภทหมุนเวียน

พิธีกร : เงิน 2 ประเภทแตกต่างกันอย่างไรบ้างครับ อุดหนุนกับหมุนเวียน

นางสาวศันสนีย์ฯ : อุดหนุนก็ให้ไปเลยในโครงการตามวัตถุประสงค์

พิธีกร : คือโครงการเหล่านั้นจะต้องผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการตำบลและจังหวัดมาเรียบร้อยแล้ว

นางสาวศันสนีย์ฯ : ในส่วนของเงินหมุนเวียนคือว่าให้เอาไปสำหรับสร้างรายได้ สร้างอาชีพ เสร็จแล้วก็นำมาคืนตามกำหนดระยะเวลา

พิธีกร : ซึ่งได้มีการไปติดตามไหมครับว่า จังหวัดบางจังหวัด 9 จังหวัดแรกที่ได้มีการให้ทั้งเงินอุดหนุนไป เงินหมุนเวียนไปทางท่านอธิบดีได้ไปสอบถามไหมครับว่าจังหวัดเหล่านั้นที่เขาได้เงินไปแล้ว โคงการเป็นอย่างไรบ้าง

นายขวัญชัยฯ : อย่างที่เราไปสำรวจตรวจสอบมาจะเห็นว่าเงินหมุนเวียนเป็นกองทุนหมุนเวียนนั้นเป็น 80% 80% คือให้สมาชิกได้กู้ยืมเงินไปต่อยอด เราไปดูมานั้น 1,427 โครงการ โดยการให้ผู้ตรวจกรม ผู้ตรวจกระทรวงมหาดไทยไปดูสำรวจมานั้น เรารู้ว่าเขากู้ยืมเงินไปทำด้านการเกษตร พัฒนาอาชีพทางด้านการเกษตร 659 โครงการ ด้านอุตสาหกรรม 21 โครงการ จะเห็นว่าเงินลงไปที่ชนบทจะเป็นภาคเกษตรมากกว่า และด้านพาณิชย์บริการนั้น 132 ด้านคหกรรม 300 กว่า ศิลปกรรม 5 โครงการ ในจำนวน 1,400 กว่าร้านที่ลงไป 20 ร้านแรกของทุกจังหวัดเขาเอาไปทำให้เกิดประโยชน์จริง ๆ ในเงิน 80% คือการพัฒนาอาชีพ สร้างเงิน สร้างรายได้ ส่วนในเงิน 20% ที่ท่านรัฐมนตรีว่านั้นเอาไปพัฒนาศักยภาพสตรี ไปแก้ปัญหาสตรีผู้ด้อยโอกาสที่ถูกทำลาย ค้ามนุษย์หรืออะไรต่าง ๆ หรือจะเอาไปทำอย่างไรก็ได้ที่ช่วยทำให้มีความเข้มแข็ง มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีอาชีพ มีรายได้ที่ดีขึ้นนั้นคือเงิน 20% ส่วน 80% นำไปหมุนคือเอาไปทำแล้วต้องนำมาคืนภายใน 2 ปี ไม่ใช่เอาไปแบ่งกันไม่ใช่ ท่านนายกฯ จะเชื่อมข้อมูลตรงนี้มาทางท่านรัฐมนตรีฯ ศันสนีย์ เลยว่าใครเอาโครงการไปทำอะไร อย่างไร หน่วยลูกจ้างที่เราส่งก็จะพิมพ์ข้อมูลมาทั้งหมดเพราะฉะนั้นส่วนกลางจะรู้เรื่องการเคลื่อนไหวของเงินกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีได้อย่างชัดเจน

พิธีกร : ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่บางจังหวัดได้เริ่มไปแล้ว แสดงว่าถ้าทุกจังหวัดได้มีการอบรมเสร็จเรียบร้อย เงินลงไปหมดเรียบร้อย ทุกคนก็จะมีส่วนร่วมในการที่จะก่อให้เกิดกิจกรรม โครงการใหม่ ๆ มากมายซึ่งเป็นประโยชน์ต่อประเทศโดยรวมด้วย

นางสาวศันสนีย์ฯ : ใช่ค่ะ คือตอนนี้เราคิดว่าเป็นห้วงเวลาสำหรับในพื้นที่ยังอาจอบรมคณะกรรมการในระดับตำบลไม่ครบ ก็อาจจะคิดกันว่าจะทำโครงการไหนดี

พิธีกร : คือระหว่างนี้คิดโครงการกันได้แล้ว

นางสาวศันสนีย์ฯ : ใช่ค่ะ และเราคิดว่าการที่จะทำให้เกิดประโยชน์ขึ้นมาก็อยู่กับตัวท่านสมาชิกทั้งหลายด้วยที่จะมีความจริงจัง อย่างไรก็ตามเราก็มีความคิดที่จะให้กระบวนการในการเรียนรู้กับท่านทั้งหลายมีโอกาส อาจจะเป็นโอกาสถัด ๆ ไปที่มีการเสนอในที่ประชุมครั้งนี้ด้วยเช่น อาจจะเอาการเรียนรู้ผ่านทางสื่อ เพื่อที่จะให้มีทางเลือกมาก ๆ ว่าเราจะทำอะไรดีอย่างนี้เป็นต้น

พิธีกร : มีการติดตามประเมินผลอย่างไรบ้างครับท่านอธิบดีฯ ว่าโครงการต่าง ๆ ที่ได้เริ่มดำเนินการไปแล้วทั้งเงินอุดหนุนแล้วก็เงินหมุนเวียนที่ลงไปในช่วงแรกเบื้องต้น

นายขวัญชัยฯ : ในเบื้องต้นเรามีทีมงานที่จะเข้าไปประเมินผลจากการดำเนินงาน เป็นเรื่องธรรมดาที่กองทุนเพิ่งเริ่มจะเปิดเริ่มจะหมุนเวียน แต่เราก็จะมีคณะกรรมการสนับสนุนและติดตามที่อยู่ในจังหวัด 1 ชุด จะคอยไปให้คำปรึกษาแนะนำและคอยดูหมุนเวียน ถ้าระบบ Transfer (ส่งต่อ) เขาภายใน 2 ปี บางแห่งเขาก็จะคืนภายในแต่ละเดือนเลย บางกลุ่มก็หนึ่งปีคืนครั้ง แต่บางกลุ่มเขาเอาไปเขาก็คิดว่าเดือนเดียวเขาคืนได้ ถ้าเกิดการหมุนเวียนของเงินและดูจากประเภทของโครงการที่ออกมาในลักษณะที่สร้างสรรค์ไม่ได้เป็นเช่น จัดนำเที่ยว แบ่งเงินกัน แบ่งกู้แบบนี้ เราก็จะรู้ว่าโครงการนี้ประสบความสำเร็จได้และในคณะกรรมการกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีแห่งชาติ เขาตั้งคณะกรรมการประเมินผลขึ้นมาอีกหนึ่งชุดโดยมีท่านปลัดสำนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีเลขาธิการ ก.พ. (สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน) ก.พ.ร. (สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ) เขาจะมีชุดนี้ออกไปประเมินผลทั้งหมดให้ว่าภาพรวมทั้งหมดนี้เป็นอย่างไร ผมเชื่อว่าถ้าสตรีร่วมมือกันอย่างจริงจังจะเป็นพลังที่สำคัญในการพัฒนาบ้านเมืองได้อย่างมหาศาล เพราะสตรีเป็นคนที่ละเอียดอ่อน ตั้งใจ มีความรักครอบครัว อบอุ่น และอยู่ในสังคมชนบทมานาน และสำคัญก็คือสืบทอดภูมิปัญญาได้ดีมาก

พิธีกร : เราจะมั่นใจได้อย่างไรครับว่าเงินที่ลงไปนั้น ลงไปใช้อย่างถูกต้องและเหมาะสมตามที่การรวมกลุ่มของสตรี 5 คนเหล่านั้นได้มีการยื่นเสนอต่อคณะกรรมการทั้งตำบลและจังหวัด

นางสาวศันสนีย์ฯ : ต้องเรียนว่ามันมีกรอบของระเบียบที่วางเอาไว้ อันนี้เป็นระดับหนึ่งที่เป็นกฎกติกา แต่อย่างไรก็ตามในจังหวัดเรามีคณะกรรมการที่เรียกว่าติดตามและสนับสนุน ซึ่งอยู่ในพื้นที่เลยมีทั้งในส่วนของราชการ ภาคเอกชน และผู้ทรงคุณวุฒิ ในแต่ละที่มี 15 คน

พิธีกร : ในแต่จังหวัดก็จะมีเลยเพราะฉะนั้นก็จะดูเขาอย่างใกล้ชิดว่าโครงการที่ได้อนุมัตินั้นจะเป็นอย่างไร และดำเนินการตามวัตถุประสงค์ที่เขียนมาหรือไม่

นางสาวศันสนีย์ฯ : อย่างไรก็ตามดิฉันเข้าใจว่าในยุคนี้เป็นยุคที่ประชาชนมีส่วนร่วมมาก เราก็ต้องช่วยกันดูแลกันเองด้วยเพราะว่ารัฐบาลเองก็มุ่งหวังที่จะให้เงินของกองทุนนี้ได้รับการใช้ตามวัตถุประสงค์จริง ๆ

พิธีกร : ถึงขณะนี้มีสตรีมาสมัครเป็นสมาชิกแล้วประมาณเท่าไหร่ครับ

นายขวัญชัยฯ : 11 ล้านเศษ

พิธีกร : 11 ล้านเศษ จริง ๆ แล้วมี 11 ล้าน อย่างที่ท่านอธิบดีบอก

นางสาวศันสนีย์ฯ : เปิดรับเรื่อย ๆ ค่ะ

พิธีกร : คือสมาชิกกองทุนบทบาทสตรีไม่ได้ปิดรับใช่ไหมครับ

นายขวัญชัยฯ : ไม่ได้ปิดครับ

พิธีกร : บางคนอาจจะเป็นเด็กครับ

นายขวัญชัยฯ : เป็นเด็กเรียนหนังสือ ยังไม่มีวุฒิภาวะก็ยังไม่อยากเข้ามาก็จะไปเข้าในรูปขององค์กร สมาคมต่าง ๆ แบบนี้ได้

นางสาวศันสนีย์ฯ : บางท่านก็อาจจะไม่ต้องการใช้ในส่วนนี้ เพราะว่าสามารถที่จะพึ่งพาตอนเองได้

พิธีกร : แต่ว่าโครงการที่พอสตรีได้ไปรวมกลุ่มทำกันแล้ว คณะกรรมการประเมินผลหรือคณะกรรมการจังหวัดเห็นว่ามีศักยภาพดี เราจะช่วยกันต่อยอดเขาอย่างไรครับ

นางสาวศันสนีย์ฯ : ท่านนายกฯ ให้ความสำคัญในเรื่องนี้มากว่าเราจะมีส่วนของการพัฒนาต่อยอดยิ่ง ๆ ขึ้นไป

พิธีกร : โดยการทำอย่างไรบ้างครับ คือว่าอาจจะเหมือนกับ OTOP ไหมครับว่าตอนแรกเริ่มกันแค่ 5 คน หลังากนั้นอาจจะเอาหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องลงมา

นางสาวศันสนีย์ฯ : คือมีแนวความคิดหลายอย่างเหมือนกับว่าจะให้เกิดการคล้าย ๆ กับประกวด ดิฉันขอใช้คำนี้ไปก่อนในระยะยาวจะใช้อะไรค่อยว่ากันอีกทีหนึ่ง เพื่อที่จะให้เห็นว่าโครงการนี้มีศักยภาพและจะได้พัฒนาต่อ ๆ ไป หรือแข่งขันกันอยู่ในทีม หรือพัฒนาศักยภาพของผู้หญิง ท่านนายกฯ ก็มุ่งเน้นเหมือนกับว่าหากมีการได้คัดสรรท่านทั้งหลายเหล่านี้มาสนับสนุนยิ่งขึ้นไปเป็นในระดับของตำบล อำเภอ จังหวัด ประเทศ และอาจจะไปต่อถึงระดับนานาชาติ

พิธีกร : ซึ่งอาจจะมีถึงขั้นดึงทั้งสถาบันการเงินของรัฐ เอกชน หน่วยงานต่าง ๆ เข้ามา

นางสาวศันสนีย์ฯ : ค่ะ วันนี้มีการพูดถึงเรื่องนี้ด้วยเพราะว่าเป็นนโยบายของกองทุนว่าเราจะไม่ทำงานเพียงลำพัง เพราะว่าเราอยากให้ผู้หญิงได้รับการสนับสนุนในทุกด้าน ดังนั้นในเรื่องของเครือข่ายไม่ว่าจะเป็นทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ถ้าหากว่ามีวัตถุประสงค์เดียวกัน โดยเฉพาะอย่างเอกชนขณะนี้องค์กรเขาก็นิยมทำ CSR ที่จะเป็นการตอบแทนสังคมโดยองค์กรของเขา เราก็จะเชิญว่าถ้าใครคิดว่าสามารถที่จะมาร่วมมือกันได้ ไปด้วยกันได้ก็จะเดินคู่กันไปเพื่อให้ศักยภาพของผู้หญิงไทยได้รับการพัฒนา

พิธีกร : ท่านอธิบดีได้รับฟังเสียงจากประชาชนอย่างไรบ้าง หลังจากประชาชนเริ่มมาสมัครเป็นสมาชิกกองทุนฯ นี้แล้ว

นายขวัญชัยฯ : เป็นที่น่าตื่นเต้นและยินดีมาก ไม่ว่าจะไปที่ไหนต่าง ๆ จะไปกับท่านนายกฯ หรือท่านรัฐมนตรีฯ ก็ดี จะเห็นชาวบ้านมีความกระตือรือร้น ยินดี และอยากมีเวทีเป็นของตนเอง อยากเป็นเวทีของผู้หญิง กลับมาอีกเรื่องหนึ่งเรื่องของการบูรณาการช่วยเหลือกัน ตอนนี้ก็ธนาคารของรัฐหลายแห่งไม่ว่าจะเป็น ธนาคารออมสิน ธนาคารกรุงไทย ธ.ก.ส. ก็ได้อาสาตัวมาช่วยเราแล้วว่าจะไปสอนเรื่องระบบธุรกิจให้กับกลุ่มสตรี จะสอนเรื่องระบบการเงินการธนาคาร ให้รู้ว่าการทำบัญชีทำอย่างไร

พิธีกร : คือคุณจะกู้เงินเขียนแผนธุรกิจเป็นแล้ว คุณจะเขียนแผนให้กับคณะกรรมการที่จะไปกู้ธนาคารทำอย่างไร

นายขวัญชัยฯ : ถูกต้อง และสำหรับต่อไปเมื่อเขาเข้มแข็งขึ้นเขาก็จะเข้าไปสู่ระบบ โดยเข้าสู่ระบบการตลาดการเงินของเขาเอง เราก็เอาเงินกองทุนไปหมุนช่วยกับคนที่ด้อยโอกาสใหม่ต่อไป พอเขาแข็งแรงเมื่อไหร่แบงค์ก็จะรับไปเหมือน OTOP ใหม่ ๆ เราก็พยายามเข้าไปอุ้มเขาทั้งหมด แต่ปัจจุบัน OTOP ที่เขาแข็งแรงแบงค์ก็รับไปหมดแล้ว รับประกันคนนี้ 5 ดาว คนนี้ดาวเด่นสู้สากล แบงค์พร้อมที่จะรองรับสนับสนุน

พิธีกร : เหมือนเป็นคณะกรรมการที่คัดสรรโครงการอย่างที่บอกไปตอนต้นว่า โครงการที่ประสบความสำเร็จอาจจะเป็นทั้งเด็กดีด้วยและมีความคิดสร้างสรรค์ด้วย รัฐบาลก็อุ้มต่อและส่งต่อให้กับหน่วยงานที่จะฟูมฝักให้เติบโตมากขึ้นไปด้วย ท้ายที่สุดแล้วกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีจะมีขนาดใหญ่มากน้อยแค่ไหน การจัดสรรเงินลงไปในแต่ละจังหวัดจะเป็นอย่างไร

นางสาวศันสนีย์ฯ : คือขณะนี้ถ้าเฉลี่ยเราต้องใช้คำว่าเฉลี่ยก็จังหวัดละ 100 ล้านบาท ซึ่งก็รวมแล้วประมาณ 7,700 ล้านบาท

พิธีกร : แต่ว่าขนาดของจังหวัดไม่เท่ากันทำอย่างไร

นางสาวศันสนีย์ฯ : มีการประชุมกัน ในที่ประชุมเห็นว่าน่าที่จะจัดสรรตามขนาดเช่น ตอนนี้ก็ได้ข้อสรุปในที่ประชุมครั้งที่ผ่านมาว่า เราจะแบ่งเป็น 3 ขนาด ขนาดแรกถ้าประชากรอยู่ในระดับที่ไม่เกิน 600,000 คน จะจัดสรรเงินให้ 70 ล้านบาท แต่ถ้าเกิน 600,000 แต่ไม่เกิน 1,000,000 คน จัดสรรให้ 100 ล้านบาทต่อจังหวัด และถ้าหากเกิน 1,000,000 คนขึ้นไปจะได้ 130 ล้านบาท

พิธีกร : คือดูตามขนาดของจังหวัดด้วย

นางสาวศันสนีย์ฯ : ใช่ค่ะ เพื่อความเป็นธรรมคณะกรรมการก็เห็นชอบตามที่ได้เสนอกันมาแบบนี้

พิธีกร : มีการตั้งไว้ไหมครับว่าท่านอธิบดีฯ ว่าที่ดูจากยอดเงินที่มีออกไปขนาดนี้แล้วนั้น เราจะเห็นโครงการจากสมาชิกกองทุนที่มารวมตัวกันในแต่ละปีจะมีกี่โครงการที่เข้ามาเสนอขอรับ

นายขวัญชัยฯ : เท่าที่เราอบรมไปแรก ๆ ก็เห็น 20 ล้านที่เราไปและทำแค่ 20 จังหวัดนั้นเกือบ 2,000 กว่าโครงการแล้ว

พิธีกร : คือแค่ 20 ล้าน

นางสาวศันสนีย์ฯ : ใช่ค่ะ แสดงว่ามีการกระจาย

พิธีกร : ถ้าเกิด 7,000 กว่าล้านก็คงมีอีกมากมาย

นายขวัญชัยฯ : จะกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากเป็นอย่างมาก

นางสาวศันสนีย์ฯ : ถ้าหากได้นำไปใช้ให้เกิดประโยชน์จริง ๆ ก็จะได้ผลอย่างที่ท่านผู้อำนวยการฯ ได้พูด

พิธีกร : แต่มีคนบอกว่าพอเป็นกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีท่านรัฐมนตรีฯ ครับ ผู้ชายจะมีส่วนร่วมได้อย่างไร

นางสาวศันสนีย์ฯ : ในการประชุมครั้งที่ผ่านมาก็เป็นคณะกรรมการที่ติดตามสนับสนุนในจังหวัดส่วนใหญ่จะเป็นผู้ชาย

พิธีกร : มาจับผิดหรืออะไรครับ

นางสาวศันสนีย์ฯ : มาติดตามและสนับสนุนค่ะ คอยดูและคอยช่วยประเมินผล มีหน้าที่ให้การสนับสนุนก็ถือว่าผู้ทรงคุณวุฒิในบางจังหวัดก็เป็นผู้ชายอาจจะเป็นส่วนน้อย แต่ดิฉันเข้าใจว่าท่านทั้งหลายเต็มใจที่จะมาเป็นส่วนหนึ่งในการที่จะมาพัฒนาบทบาทสตรี และดิฉันเชื่อว่าท่านเหล่านี้เห็นคุณค่าของการที่ผู้หญิงมีศักยภาพและจะเกิดประโยชน์มาก

พิธีกร : คือให้เกิดความเท่าเทียมกันในสังคมด้วย

นางสาวศันสนีย์ฯ : ใช่ค่ะ

พิธีกร : เราจะเห็นกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีเดินหน้า kick off (เริ่มต้น) อย่างเต็มรูปแบบเมื่อไหร่ครับ

นายขวัญชัยฯ : ผมคิดว่าทุกวันนี้ก็เริ่มเดินแล้วนะครับ แต่เงินงวดหลังที่ไป 80% คาดว่าหลังจากประชุมวันนี้ไปประมาณ 10 วัน เราก็จะแจ้งหนังสือไปยังทุกจังหวัด เงิน 80 ล้านหลังนี้ โดยเฉลี่ยก็จะลงสู่จังหวัดทั้งหมด พอเราอบรมเสร็จภายในสิ้นเดือนกุมภาพันธ์นี้ 1 มีนาคม ทุกตำบลเขาจะเคลื่อนไหวเลยต่างคนต่างพิจารณา ต่างคนต่างทำ ก็พอดีช่วยกันแก้ไขปัญหาภาวะหน้าแล้งให้กับพี่น้องประชาชนมีการสร้างอาชีพให้กับพี่น้องประชาชนในช่วงฤดูแล้งพอดีในขณะที่เขากำลังประสบภาวะเดือดร้อน

นางสาวศันสนีย์ฯ : เหมือนกับว่าเมื่อคณะกรรมการทั้งหลายพร้อมหมดแล้ว เงินก็มีความพร้อมแล้วรอจังหวะเวลาที่จะลงไปเท่านั้นเอง ให้ครบตามเป้าหมายในแต่ละจังหวัด

พิธีกร : เพราะฉะนั้นอีกไม่นานเกินรอ คือช่วงนี้หลังบ้านก็ดำเนินการอยู่เพราะฉะนั้นท่านผู้ชมที่สมัครสมาชิกกองทุนฯ แล้ว เริ่มคิดได้แล้วว่าโครงการที่ตัวเองจะร่วมตัวกันทำ 5 คน นั้นเป็นอย่างไรกันบ้าง

นางสาวศันสนีย์ฯ : ซึ่งดิฉันขออนุญาตถามท่านผู้อำนวยการฯ หรือท่านอธิบดีฯ แทนประชาชนว่า ในส่วนของสมาชิกบางคนที่เขาไปเขียนใบสมัครแล้วแต่ยังตรวจสอบไม่พบชื่อของตัวเองจะทำอย่างไร

นายขวัญชัยฯ : ให้แจ้งยืนยันมายังส่วนกลางจะยืนยันไปให้ เพราะปกติคนสมัครสมาชิกนั้นเราจะให้ทางกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทยเป็นคนตรวจสอบเพื่อให้ทะเบียนไม่ซ้ำกัน บางที่สมัคร 3 – 4 ที่ไม่ได้เราต้องตรวจสอบให้มั่นใจ

พิธีกร : ดูจากบัตรประจำตัวประชาชนหรือว่าอะไรครับ

นายขวัญชัยฯ : ดูจากบัตรประจำตัวประชาชนเลข 13 หลัก ก็จะไปดูทะเบียนตรงนี้ว่าไม่ซ้ำกัน ชื่อมีอยู่จริงหรือไม่ บัตรปลอมหรือไม่ พอยืนยันแน่นอนแล้วเขาอยู่ที่ไหนเขาก็ใช้สิทธิ์ตรงนั้นได้เลย ถ้าไม่ตรวจสอบตรงนี้ก็จะมีการวิ่งรอก

นางสาวศันสนีย์ฯ : เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุดและท่านที่ยังไม่ได้มาสมัครเป็นสมาชิกก็สามารถมาสมัครได้เรื่อย ๆ

พิธีกร : กระบวนการในการตรวจสอบสมาชิกนานมากน้อยแค่ไหนครับ

นายขวัญชัยฯ : ไม่นานครับ เพราะส่วนนี้กรมการปกครองใช้ระบบคอมพิวเตอร์ ระบบของเขาใหญ่เพียงพอและรวดเร็ว พอเสร็จเร็วก็กดปุ่มจังหวัดก็ทราบทันที ข้อมูลก็จะเติมใส่อยู่ตลอดเวลาที่จังหวัด เพราะฉะนั้นเวลาไปจังหวัด ตำบลเขาจะรู้เพราะมีคอมพิวเตอร์ของเขาอยู่และจะสามารถรู้สมาชิกทั้งหมดว่าอยู่ที่ไหน

พิธีกร : และท้ายแล้วดูเหมือนว่าตอนนี้ทุกท่านไม่ใช่แค่สตรีเท่านั้นที่มีโอกาสมีส่วนร่วมในการออกแบบโลโก้กองทุนฯ

นางสาวศันสนีย์ฯ : ใช่ค่ะ เวลาก็ใกล้เข้ามาทุกทีแล้วที่จะปิดรับสมัคร เปิดรับมาพอสมควรจะสิ้นสุดในวันที่ 29 มกราคมนี้ และจะไปตัดสินกันในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ดังนั้นยังเหลือเวลาช่วยกันมีส่วนร่วมในการออกแบบว่า กองทุนพัฒนาบทบาทสตรีที่ท่านได้ฟังมาว่ามีเนื้อหาเป็นแบบนี้นั้นน่าจะมีโลโก้อย่างไร และในที่ประชุมที่ผ่านมาได้มีการพิจารณาใช้คำย่อของกองทุนออกมามีพยัญชนะไทยแค่ 2 ตัวคือ ก และ ส

พิธีกร : ไม่ต้องเรียกยาวอีกต่อไป

นางสาวศันสนีย์ฯ : กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ท่านอาจจะเรียก กส. ก็ได้หรืออาจจะเอาไปใช้ประโยชน์ในการออกแบบกองทุนก็ได้

พิธีกร : พอเห็นในสื่อเขียนว่า กส. จะได้รู้ว่าเป็นอะไรด้วย

นางสาวศันสนีย์ฯ : ใช่ค่ะ กส.

พิธีกร : ตอนนี้ได้ยินจากทั้งสองท่านว่ามีความคืบหน้าของโครงการไปอย่างมาก และท่านนายกฯ ใส่ใจกับกองทุนนี้อยากมากเพื่อที่จะสร้างความเข้มแข็งให้กับสตรี

นางสาวศันสนีย์ฯ : ดิฉันเรียนให้ทราบอีกเล็กน้อยว่า เราจะมีการดูด้วยว่าความต้องการของผู้หญิงส่วนใหญ่นั้นเป็นอะไร และจะตอบสนองให้ตรงกับความต้องการอย่างเช่น จากการจดทะเบียนที่ผ่านมาเราพบว่าเรื่องสร้างงาน สร้างรายได้อันดับหนึ่ง เรื่องที่สองเรื่องสุขภาพ เป็นต้น

นายขวัญชัยฯ : อันนี้เหมาะกับการกำหนดยุทธศาสตร์เพื่อพัฒนาสตรี

พิธีกร : ช่วงนี้ขอขอบคุณท่านรัฐมนตรีฯ ศันสนีย์ มากครับ อีกสักครู่หนึ่งท่านอธิบดีจะไปกับผมต่อเพื่อดูสินค้า OTOP ตรงนี้ ท่านผู้ชมได้รับทราบแล้วนะครับว่ากองทุนพัฒนาบทบาทสตรีนั้นท่านนายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพราะว่าเป็นกองทุนที่จะช่วยส่งเสริมศักยภาพของสตรีไทยให้มีความเสมอภาค มีความเท่าเทียมกันในหลายภาคส่วน และรัฐบาลนั้นอยู่ระหว่างการจัดการอบรมคณะกรรมการให้ครบ 1 มีนาคม อย่างที่ท่านอธิบดีบอกไปว่าเงินจะลงไปทุกพื้นที่ทั่วประเทศระหว่างนี้คิดโครงการดี ๆ ไว้ ช่วงนี้พักสักครู่หนึ่งก่อน

ช่วงที่ 3

พิธีกร : กลับสู่ช่วงสุดท้ายของรายการรัฐบาลยิ่งลักษณ์พบประชาชน ท่านอธิบดีครับงานนี้คุยกันเรื่อง OTOP ทรัพย์ในดินตรงนี้เป็นอย่างไรครับ

นายขวัญชัยฯ : ทรัพย์ในดินคือแร่ธาตุในธรรมชาติที่อยู่ใต้ดิน แต่เราใช้ภูมิปัญญาของพี่น้องประชาชนที่เป็นวิสาหกิจชุมชนนำมาเจียระไนทำให้เป็น OTOP ที่สำคัญและเป็นชื่อเสียงของประเทศชาติได้

พิธีกร : วันนี้เรามีทั้งทอง หยก เหล็ก และดีบุก เริ่มต้นกันจากตรงนี้ก่อนครับ ตรงนี้เป็นอะไรครับเห็นว่ามาจากจังหวัดตาก คุณพรรณทิพย์ ใช่ไหมครับ ทำอะไรบ้างครับ

ตัวแทนกลุ่มผลิตภัณฑ์ OTOP จังหวัดตาก (คุณพรรณทิพย์ ไชยชนะ) : ตอนนี้ทำหยก ทับทิม และมิลา ซึ่งเป็นอัญมณีหลากหลายชนิดที่นำมาเจียระไนและนำขึ้นรูปตัวเรือนด้วยภูมิปัญญาของไทย ซึ่งเราได้ทำที่อำเภอแม่สอด และส่วนวัตถุดิบที่ราคาต่ำเราก็จะนำมาเพิ่มมูลค่า โดยการนำมาทำเป็นต้นไม้หยกใช้เป็นของที่ระลึก ของประดับบ้าน

พิธีกร : เห็นว่าต้นไม้หยกต้นนี้ราคาไม่แพงเลยใช่ไหมครับ

ตัวแทนกลุ่มผลิตภัณฑ์ OTOP จังหวัดตาก (คุณพรรณทิพย์ ไชยชนะ) : ใช่ค่ะ ด้านโน้นราคา 5,500 บาท

พิธีกร : 5,500 บาทเท่านั้น แต่ว่าดูแล้วเป็นหยกแท้ ๆ แต่ว่าใช้ฝีมือเพิ่มมูลค่า ส่วนเครื่องประดับอัญมณีตรงนี้ เป็นอะไรบ้างครับ

ตัวแทนกลุ่มผลิตภัณฑ์ OTOP จังหวัดตาก (คุณพรรณทิพย์ ไชยชนะ) : จะเป็นหยกซึ่งออกแบบและขึ้นตัวเรือนเรียบร้อยแล้วหุ้มทอง และเพชรเรียบร้อยแล้ว จะเป็นหยกแท้ที่มีใบรับรองทุกชิ้น

พิธีกร : อันนี้เป็นผลิตจากหยกจากจังหวัด เดินมาตรงนี้มาจากไหนครับ

ตัวแทนกลุ่มผลิตเหล็กน้ำพี้ จังหวัดอุตรดิตถ์ : จังหวัดอุตรดิตถ์ ตำบลน้ำพี้ บ่อเหล็กน้ำพี้

พิธีกร : พูดถึงน้ำพี้ ก็ต้องเป็นหลักน้ำพี้แน่นอน ซึ่งจะเป็นพื้นที่ที่จะมีการจัดประชุมคณะรัฐมนตรีในช่วงสุดสัปดาห์นี้ด้วย เหล็กน้ำพี้เอามาจากไหนครับ

ตัวแทนกลุ่มผลิตเหล็กน้ำพี้ จังหวัดอุตรดิตถ์ : อยู่ที่พื้นที่เลย เช่น อย่างที่ท่านอธิบดีจับอยู่นี่คือเป็นก้อนเหล็กน้ำพี้ที่อยู่บ่อทองแสนขัน ที่จะมาเป็นดาบตัวนี้

นายขวัญชัยฯ : ลองโชว์ดาบให้ดูได้ไหมครับ

ตัวแทนกลุ่มผลิตเหล็กน้ำพี้ จังหวัดอุตรดิตถ์ : เมื่อตีแล้วจะเป็นสีเขียวเหมือนปีกแมลงทับ ซึ่งจะอ่อนข้างในและแข็งข้างนอก

พิธีกร : แสดงว่าวิธีการตีเหล็กคือเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น

ตัวแทนกลุ่มผลิตเหล็กน้ำพี้ จังหวัดอุตรดิตถ์ : ใช่ครับ คือการตีนั้นจะหล่อออกมาจากหินก้อนนี้ใช้ความร้อนหล่อประมาณ 1,640 องศา พอหล่อเสร็จแล้วเวลาที่จะนำมาตีเป็นดาบจะใช้เผาอีกประมาณ 400 องศา และนำมาตี เวลาตีจะใช้คนตี 3 คน อีกคนหนึ่งใช้คีมจับคอยพลิกเพื่อที่จะให้ยืดเหล็กให้ยาวตามขนาดที่ผู้สั่งต้องการ อย่างเช่นที่จะมอบให้กับคณะรัฐมนตรีในวันที่ 20 -21 นี้ก็จะอยู่ที่ 9 นิ้ว

พิธีกร : นี่ก็คือเหล็กน้ำพี้เช่นเดียวกัน

ตัวแทนกลุ่มผลิตเหล็กน้ำพี้ จังหวัดอุตรดิตถ์ : ใช่ครับ ลูกปะคำนี้ก็เช่นเดียวกันทำมาจากผงของเหล็กน้ำพี้ ซึ่งบดออกมาแล้วนำไปผสมกับดินเหนียวที่อยู่ในพื้นที่ของอำเภอทองแสนขันเท่านั้น เพราะจะมีคุณสมบัติที่เหนียวและทนต่อความร้อนได้ดีเป็นดินเหนียวที่อื่นไม่ได้

พิธีกร : เมื่อสักครู่ผมทดสอบดูเหมือนแม่เหล็กเลยนะครับ

ตัวแทนกลุ่มผลิตเหล็กน้ำพี้ จังหวัดอุตรดิตถ์ : ใช่ครับ คือต้องใช้แม่เหล็กด้วย

พิธีกร : ลองโชว์ให้ดูหน่อยได้ไหมครับ

ตัวแทนกลุ่มผลิตเหล็กน้ำพี้ จังหวัดอุตรดิตถ์ : ได้ครับ ท่านลองพิสูจน์ดูได้ครับ

นายขวัญชัยฯ : ลูกปะคำติดครับ แสดงว่าดินผสมผงเหล็กจริง เหล็กน้ำพี้นี้มีประวัติศาสตร์ด้วยนะครับ

ตัวแทนกลุ่มผลิตเหล็กน้ำพี้ จังหวัดอุตรดิตถ์ : จะมี 2 บ่อที่สงวนไว้ให้สำหรับพระมหากษัตริย์ในสมัยโบราณคือ บ่อพระแสงและบ่อพระขัน ซึ่งในบ่อนี้ก็จะนำมาตีดาบของท่านพระยาพิชัยดาบหัก

พิธีกร : ตรงนี้คืออะไรครับ

ตัวแทนกลุ่มผลิตเหล็กน้ำพี้ จังหวัดอุตรดิตถ์ : ตรงนี้เป็นไหล เขาเรียกว่าไหลเขียว จะมาจากหินที่มีอยู่ในพื้นที่ของอำเภอทองแสนขันเช่นเดียวกัน ภูมิปัญญาของเขาคือจะไปสังเกตดูว่าหินก้อนไหนมีสายแร่อยู่ ก็จะนำมาเผาด้วยความร้อนสูงเช่นเดียวกัน เมื่อได้ความร้อนสูงก็จะไหลออกมาพอมาปะทะกับความเย็นก็จะเป็นก้อนโดยไม่ต้องเจียระไน อันนี้สีดำก็เรียกว่าไหลดำเช่นเดียวกัน

นายขวัญชัยฯ : อันนี้คือผ้าอะไรครับ

ตัวแทนกลุ่มผลิตเหล็กน้ำพี้ จังหวัดอุตรดิตถ์ : เป็นผ้าจกของลับแล อันนี้เป็นจกของฟากท่า จังหวัดอุตรดิตถ์เช่นเดียวกันครับ

พิธีกร : ตรงนี้มาเป็นผลิตภัณฑ์ของดีบุก ที่กำแพงเพชรมีดีบุกหรือไม่ครับ

ตัวแทนกลุ่มผลิตภัณฑ์ดีบุก จังหวัดกำแพงเพชร : กำแพงเพชรไม่มีดีบุกแต่ช่างของเรามีความสามารถในการออกแบบตั้งแต่ งานปั้น งานดุน

พิธีกร : แสดงว่าไม่จำเป็นต้องมีวัตถุดิบในพื้นที่แต่ขอให้มีความสามารถ มีความรู้ มีภูมิปัญญา เริ่มมาตั้งแต่เมื่อไหร่ครับ

ตัวแทนกลุ่มผลิตภัณฑ์ดีบุก จังหวัดกำแพงเพชร : เริ่มจากงานทำพวกกุญแจ ทำของที่ระลึก และเริ่มมาทำเป็นลักษณะงานชิ้นใหญ่เป็นงานหล่อ และไปเรียนดุนลายมาจากเชียงใหม่ก็เริ่มมาเป็นงานพวกเครื่องประดับ พวกนี้ถ้าเราใช้ลักษณะการดุนจะทำให้สินค้ามีน้ำหนักเบาขึ้น เป็นการแตกลายสินค้าด้วย

นายขวัญชัยฯ : สร้างมูลค่าเพิ่ม

พิธีกร : ช่องทางการในจัดจำหน่ายเป็นอย่างไรบ้าง

ตัวแทนกลุ่มผลิตภัณฑ์ดีบุก จังหวัดกำแพงเพชร : ส่วนมากจะส่งตามแหล่งท่องเที่ยว ตามเมืองท่องเที่ยว เช่น จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดชลบุรี และกรุงเทพฯ ตามแหล่งท่องเที่ยว และมีจำหน่ายที่จังหวัดกำแพงเพชรด้วย

พิธีกร : คือกำแพงเพชรเป็นแหล่งงานฝีมือ แต่เอาวัตถุดิบมาจากภาคใต้และส่งขายไปทั่วประเทศ อันนี้ถือว่าครบวงจรจริง ๆ ขอบพระคุณมากครับ สุดท้ายครับท่านอธิบดี ของทุกอย่างมีมูลค่าเป็นล้านบาท มาจากจังหวัดสุโขทัยใช่ไหมครับ

ตัวแทนกลุ่มผลิตภัณฑ์ OTOP จังหวัดสุโขทัย : ใช่ครับ จากอำเภอศรีสัชนาลัย

พิธีกร : นี่คือทอง

ตัวแทนกลุ่มผลิตภัณฑ์ OTOP จังหวัดสุโขทัย : เป็นทองเปอร์เซ็นต์ 99.99 ซึ่งในตามท้องตลาดเป็น 96.5%

พิธีกร : แตกต่างกันอย่างไรครับ

ตัวแทนกลุ่มผลิตภัณฑ์ OTOP จังหวัดสุโขทัย : แตกต่างคือ ทองของเราทุกขั้นตอนทำด้วยมือ

พิธีกร : ละเอียดขนาดนี้ทำด้วยมือทั้งหมด นี่คือใช้มือทั้งหมด

ตัวแทนกลุ่มผลิตภัณฑ์ OTOP จังหวัดสุโขทัย : ใช้มือหมดครับ จากทองคำแท่งมาดึงเป็นเส้นเล็ก ๆ เท่าเส้นผมและนำมาถัก อย่างเส้นนี้เรียกว่าเส้นแปดเสา จากทองแท่งและนำมาดึงเป็นเส้นเล็กเท่าเส้นผมและนำมาถักเป็นเส้นแบบนี้ ซึ่งใช้ระยะเวลาประมาณครึ่งเดือน แต่ละเส้นก็ใช้หลายคนมีทั้งช่างลงยา ตีตะขอ และช่างประกอบ แต่ละคนมีหน้าที่ไม่เหมือนกัน บางคนถัก บางคนติดลาย ทำตะขอ ลงยา และนำมาประกอบ

พิธีกร : ความรู้เหล่านี้นำมาจากไหนครับ

ตัวแทนกลุ่มผลิตภัณฑ์ OTOP จังหวัดสุโขทัย : ลวดลายแต่ละอันนั้นก็นำมาจากผนังวัดที่อุทยานศรีสัชนาลัย หรือที่เจดีย์เจ็ดยอดที่จะมีลายเรียกว่า ลายเทพพนม นี่ก็มาจากกำแพงวัดเก่าแก่ ซึ่งอำเภอศรีสัชนาลัยนี้มีประวัติศาสตร์เรียกว่าเมืองพระร่วง จะเอาลวดลายตามผนังวัด ตามกำแพงวัด เจดีย์วัด

พิธีกร : นี่คือทรัพย์ในดินท่านอธิบดี เราได้เห็นแล้วว่า OTOP ของไทยนั้น ขณะนี้เติบโตไปไกลมากทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นหยก เหล็กน้ำพี้หรือว่าดีบุกเหล่านี้ และทอง ล้วนแล้วแต่มีการพัฒนาจนได้รับการยอมสู่สากลด้วย ซึ่งนี่คือส่วนหนึ่งของ OTOP ในพื้นที่ทรัพย์ในดินและเป็นกลุ่มภาคเหนือตอนล่างที่จะมีการประชุมคณะรัฐมนตรีในกลุ่มจังหวัดนี้ด้วย วันนี้ขอขอบคุณท่านอธิบดีมากครับ ขอบคุณทุกท่านนะครับ และทั้งหมดคือรายการรัฐบาลยิ่งลักษณ์พบประชาชน ผมธีรัตน์ รัตนเสวี สวัสดีครับ

 

*********************************



กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษก

นายกรัฐมนตรีพร้อมคณะตรวจเยี่ยมดูสภาพความคับคั่งการจราจรบริเวณสะพานมิตรภาพไทย – เมียนมาร์ แห่งที่ 1

$
0
0
นายกรัฐมนตรีพร้อมคณะตรวจเยี่ยมดูสภาพความคับคั่งการจราจรบริเวณสะพานมิตรภาพไทย – เมียนมาร์ แห่งที่ 1

นายกรัฐมนตรีตรวจเยี่ยมสะพานมิตรภาพไทย – เมียนมาร์ แห่งที่ 1 ดูสภาพความคับคั่งของการจราจร-หาแนวทางการแก้ไขปัญหาความแออัดของสภาพการจราจรและการขนถ่ายสินค้า

วันนี้ (20 ม.ค.56) เวลา 09.30 น. ณ บริเวณสะพานมิตรภาพไทย – เมียนมาร์ แห่งที่ 1 ตลาดริมเมย ตำบลท่าสายลวด อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พร้อมด้วย นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี นายทศพร เสรีรักษ์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ตรวจเยี่ยมสะพานมิตรภาพไทย - เมียนมาร์ แห่งที่ 1ดูความคับคั่งของการจราจร การแก้ไขปัญหาความแออัดของสภาพการจราจรและการขนถ่ายสินค้า รวมถึงการสำรวจความเป็นไปได้ในการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมาร์ แห่งที่ 2 และถนนเชื่อมโยงในการแก้ปัญหาความแออัดในการคมนาคมขนส่งผ่านแดน  โดยมี พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ปลัดกระทรวงคมนาคม นายสุริยะ ประสาทบัณฑิตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก หัวหน้าส่วนราชการ ตลอดจนประชาชนอำเภอแม่สอดและใกล้เคียง ให้การต้อนรับเป็นจำนวนมาก

โดยกรมทางหลวง กระทรวงคมนาคมเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินโครงการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย - เมียนมาร์  แห่งที่ 1  คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนเมษายน พ.ศ. 2557  และให้เทศบาลนครแม่สอดพิจารณาลงทุนจัดสร้างสถานที่ขนถ่ายสินค้าบริเวณถนนที่จะเข้าสู่สะพานมิตรภาพไทย –  เมียนมาร์ แห่งที่ 1 ขณะเดียวกันจะเร่งก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย - เมียนมาร์ แห่งที่ 2 โดยกระทรวงคมนาคมรายงานว่าได้ดำเนินการศึกษาความเหมาะสมด้านเศรษฐกิจและวิศวกรรมแล้ว ซึ่งจะใช้งบประมาณดำเนินการตามแผนงบประมาณปี 56 - 58 ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมและกระทรวงการต่างประเทศได้ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะการเชื่อมโยงการขนส่งทางถนนต่อไปถึงเมืองกอกะเร็กของเมียนมาร์อย่างเป็นระบบและครบวงจรแล้ว

 

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำรายละเอียดผลการศึกษาทั้งหมดมาพิจารณาอย่างรอบคอบ และนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง

------------------------------------

กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษก

นราวุธ สักลอ รายงาน

ธวัชชัย คุ้มคลองโยง ถ่ายภาพ

 

 

นายกรัฐมนตรีลงพื้นที่ อ.แม่สอด จ.ตาก รับฟังบรรยายสรุปเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด

$
0
0
นายกรัฐมนตรีลงพื้นที่ อ.แม่สอด จ.ตาก รับฟังบรรยายสรุปเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด

นายกรัฐมนตรีและคณะลงพื้นที่ อ.แม่สอด รับฟังบรรยายสรุปติดตามเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด พร้อมรับฟังข้อเสนอการพัฒนาการค้าชายแดนจากภาคเอกชน

 

วันนี้ (20 ม.ค.56) เวลา 10.10 น. ณ ศูนย์แสดงสินค้าอัญมณีและการท่องเที่ยว อำเภอแม่สอด จังหวัดตากนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พร้อมคณะ รับฟังบรรยายสรุปเรื่องเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด โดยมี นายสุริยะ ประสาทบัณฑิตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก นายบรรพต ก่อเกียรติเจริญ ประธานหอการค้าจังหวัดตาก ผู้บริหารส่วนราชการ ผู้บริหารส่วนท้องถิ่นจังหวัดตาก ข้าราชการ เจ้าหน้าที่คอยให้การต้อนรับ

ผู้ว่าราชการจังหวัดตากกล่าวบรรยายสรุปข้อมูลพื้นฐานจังหวัดตากว่า จังหวัดตากมีพื้นที่ 16,406  ตร.กม. มีขนาดพื้นที่ใหญ่เป็นลำดับที่ 4 ของประเทศ และลำดับที่ 2 ของภาคเหนือ รองมาจากจังหวัดเชียงใหม่ มีพื้นที่ป่าไม้คิดเป็น 70% ของพื้นที่ทั้งหมด   การปกครองแบ่งออกเป็น 9 อำเภอ แบ่งเป็นพื้นที่ฝั่งตะวันออก 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมือง อำเภอบ้านตาก อำเภอสามเงา อำเภอวังเจ้า มี 5 อำเภอฝั่งตะวันตกติดชายแดน ได้แก่ อำเภอแม่สอด อำเภอพบพระ อำเภอแม่ระมาด อำเภอท่าสองยาง อำเภออุ้มผาง  ฝั่งตะวันตกมีเนื้อที่คิดเป็น 65% ของเนื้อที่ทั้งหมด  การปกครองส่วนท้องถิ่นแบ่งออกเป็น 1 อบจ.  1  เทศบาลนคร  1  เทศบาลเมือง    14  เทศบาลตำบล  52  อบต. 63  ตำบล 559  หมู่บ้าน ประชากรทั้งสิ้น 531,018 คน มีชนเผ่า 6 เผ่า ได้แก่ กะเหรี่ยง ม้ง มูเซอ ลีซอ เย้า และอีก้อ จำนวน 196,889 คน

ผู้ว่าราชการกล่าวต่อไปว่ายุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดตาก (2557-2560) คือ 1.ด้านการพัฒนาการท่องเที่ยว ซึ่งมีศักยภาพด้านพื้นที่ ทำให้มีความหลากหลายด้านการท่องเที่ยว ศิลปะ วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์  และธรรมชาติ เช่น น้ำตกทีลอซู  ศาลสมเด็จพระเจ้าตากสิน พระธาตุบ้านตาก ไม้กลายเป็นหิน  2. การพัฒนาสินค้า OTOP และแปรรูปสินค้าเกษตร เพื่อการขับเคลื่อนการพัฒนาผลิตภัณฑ์สินค้า OTOP เป็นการจัดระดับผลิตภัณฑ์เพื่อพัฒนาและส่งเสริมผลิตภัณฑ์ในแต่ละประเภทตามศักยภาพของผลิตภัณฑ์ และสนับสนุนเพิ่มช่องทางการตลาดทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ  3. การพัฒนาคุณภาพชีวิต และการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยการทำความเข้าใจพร้อม ๆ กับส่งเสริมการปลูกป่า ไม้ผลยืนต้น และปลูกกาแฟ สร้างรายได้ให้ประชาชนสามารถอยู่ร่วมกับป่าได้ แทนการเก็บของป่าทำไร่หมุนเวียน ทำการเกษตรพืชเชิงเดียว ซึ่งมีการขยายพื้นที่การเพาะปลูกล้ำพื้นที่ป่า และ 4.การพัฒนาด้านการค้าและการลงทุน เพื่อเป็นจุดเชื่อมโยงเส้น East – West Economic Corridor (EWEC) เปรียบเสมือนประตูสู่อาเซียนที่สามารถเพิ่มศักยภาพในการขยายการส่งออกและในด้านการค้าและการลงทุน และรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558

นายบรรพต ก่อเกียรติเจริญ ประธานหอการค้าจังหวัดตากบรรยายสรุปเรื่องเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอดว่า ปัจจุบันมูลค่าการค้าชายแดนแม่สอด มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง คาดว่าเมื่อเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนจะมีมูลค่าการค้าสูงประมาณปีละ 50,000 ล้านบาท ทั้งนี้ ในปี 2555 มูลค่าการค้าชายแดนไทย – พม่า เติบโตสูงถึง 80% จากปี 2554 คิดเป็นมูลค่าการค้ารวม 39,337 ล้านบาท โดยสินค้าหลักในการส่งออก 10 อันดับแรกของปี 2555 คือ เบียร์ทำจากมอลต์ น้ำมันเบนซิน น้ำมันพืช ผ้าพิมพ์ฝ้าย น้ำมันดีเซล โทรทัศน์ ผงชูรส กาแฟชนิดผลสำเร็จรูป รถจักรยานยนต์ และยารักษาโรค สำหรับสินค้านำเข้า 10 อันดับแรกปี 2555 คือ เฟอร์นิเจอร์และสิ่งประดิษฐ์ไม้ โค – กระบือมีชีวิต สินค้าอื่นๆ กระเพาะปลาตากแห้ง สินแร่พลวง ปลาเบญจพรรณ ปลายข้าว 100 % ถ่านไม้สัก – ไม้แดง แร่เหล็ก และรถจักรยานเก่าใช้แล้ว  ทั้งนี้ ปัญหาอุปสรรคการค้าชายแดนแม่สอดคือสะพานมิตรภาพไทย – พม่า ที่ชำรุดไม่สามารถรองรับปริมาณการขนส่งสินค้าที่มีจำนวนมากขึ้น และไม่สามารถรับปริมาณการส่งออกและรถบรรทุกที่มีจำนวนมาก รวมไปถึงไม่สามารถรองรับรถบรรทุกสินค้าที่มีน้ำหนักเกินกว่า 25 ตันขึ้นไป ทำให้ต้องถ่ายเทสินค้าลงจากรถแล้วบรรทุกรถเล็กขนข้ามสะพานอีกทีทำให้เสียเวลาในการขนส่ง

ประธานหอการค้าจังหวัดกล่าวต่อไปว่าสิ่งที่ภาคเอกชนต้องการเห็นการพัฒนาการค้าชายแดนไทย – พม่า คือ การจัดตั้งเขตการค้าการลงทุนร่วมแม่สอด – เมียวดี โดยเสนอให้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นทั้งสองประเทศ เพื่อให้คำปรึกษาและสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน และให้รัฐบาลจัดสรรงบประมาณเพื่อดำเนินการสำรวจ/ออกแบบ พื้นที่เขตเศรษฐกิจชายแดนแม่สอด 14,753 ไร้ให้เป็นรูปธรรม พร้อมเปิดรองรับ AEC ในปี 2558  การเร่งก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานรองรับความเป็น Connectivity ของอาเซียนอย่างเป็นรูปธรรมและชัดเจน การก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทยพม่าแห่งที่ 2 และถนนเชื่อมโยง จัดทำศูนย์ One stop service คอยให้บริการโดยรวมส่วนราชการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไว้ด้วยกัน พัฒนาถนนเส้นทางตาก – แม่สอด ให้เป็นทางสมัยใหม่ มีการเจาะอุโมงค์ และทำสะพานเชื่อมเพื่อย่นระยะทาง ขยายท่าอากาศยานแม่สอด ผลักดันให้มีการบินเชื่อมโยงระหว่างกรุงเทพมหานคร – แม่สอด – ย่างกุ้ง และเส้นทาง กรุงเทพมหานคร – แม่สอด – เมาะละแหม่ง และให้รัฐบาลเจรจาให้มีการท่องเที่ยวเชื่อมโยงระหว่างชายแดนไทย – พม่า โดยใช้บอร์เดอร์พาส ตามข้อตกลงไทย – พม่า ว่าด้วยเรื่องการข้ามแดนปี 1997 ทั้งนี้ เพื่อผลประโยชน์ของประเทศไทยรองรับเป็นประตูตะวันตกเชื่อมโยงระบบ Connectivity รองรับ AEC ในปี 2558 เพื่อเชื่อมโยงเขตเศรษฐกิจเข้าด้วยกัน ได้ประโยชน์ร่วมกันตามข้อตกลงในเขตการค้าเสรี และสิทธิประโยชน์ทางภาษี มีกรอบลงทุนขั้นพื้นฐานอย่างชัดเจน ทั้งพื้นที่และเงินทุนที่สามารถตอบสนองนักลงทุนได้ รวมไปถึงประโยชน์ในการกำหนดพื้นที่ให้ควบคุมปัญหาด้านความมั่นคงได้ทั้งด้านแรงงานและด้านอื่นๆ ต่อไป

 

------------------------------------

กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์

นราวุธ รายงาน

ธวัชชัย ถ่ายภาพ

 

 

 


นายกรัฐมนตรีเยี่ยมชมอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัยมรดกโลก

$
0
0
นายกรัฐมนตรีเยี่ยมชมอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัยมรดกโลก

นายกรัฐมนตรีพร้อมคณะเยี่ยมชมอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัยมรดกโลกและสักการะวัดโบราณอายุ 755 ปี ที่ อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย

 

วันนี้ (20 ม.ค.56) เวลา 14.50 น. ณ อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัยมรดกโลก  อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีพร้อมคณะ เยี่ยมชมอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัยมรดกโลกและสักการะวัดโบราณอายุ 755 ปี โดยมีนายสนธยา  คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม นายบัณฑิต ทองอร่าม รักษาราชการหัวหน้าอุทยานฯ และเจ้าหน้าที่อุทยานฯ คอยให้การต้อนรับ

นายบัณฑิต ทองอร่าม รักษาราชการหัวหน้าอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัยกล่าวบรรยายสรุปว่า อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัยมีพื้นที่ 28,217 ไร่ หรือ 45.14 ตารางกิโลเมตร  ครอบคลุมพื้นที่ตำบลศรีสัชนาลัย  ตำบลสารจิตร  ตำบลหนองอ้อ  ตำบลท่าชัย  อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย ปัจจุบันสำรวจพบโบราณสถานทั้งสิ้น 282 แห่ง โดยได้รับการขุดแต่ง - บูรณะแล้วจำนวน 74 แห่ง หรือ 26% ของโบราณสถานทั้งหมด  อาทิ  วัดช้างล้อม  วัดเจดีย์เจ็ดแถว  วัดนางพญา  วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ เชลียง  และแหล่งโบราณคดีวัดชมชื่น

ในโอกาสนี้นายกรัฐมนตรีและคณะได้นั่งรถรางเยี่ยมชมโบราณสถานภายในอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย ประกอบไปด้วย 1) วัดช้างล้อม ซึ่งมีลักษณะเป็นแผนผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า  ประกอบไปด้วยเจดีย์ประธาน 1 องค์ , เจดีย์ราย 2 องค์ , วิหารประธาน 1 หลัง , วิหารแกลบ 2 หลังและศาลาขนาดเล็ก 1 หลัง  เจดีย์ประธานเป็นเจดีย์ทรงลังกาบนฐานทักษิณสูง  รอบฐานทักษิณมีประติมากรรมลอยตัวรูปช้างประดับอยู่โดยรอบซึ่งเป็นอิทธิพลศิลปะลังกาดังเช่นที่สถูปรุวันเวลิ  บนฐานทักษิณมีซุ้มจรนัมประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัยอยู่โดยรอบ   ส่วนองค์ระฆังตั้งอยู่เหนือชั้นบัวถลาและบัวปากระฆัง  รองรับบัลลังก์รูปสี่เหลี่ยมที่ทำเป็นชุดบัวลูกฟัก  ที่ก้านฉัตรประดับด้วยประติมากรรมนูนสูงรูปพระพุทธรูปปางลีลา วิหารประธานเป็นอาคารโถงขนาด 6 ห้อง  ก่อด้วยศิลาแลงหลังคาเป็นเครื่องไม้มุงกระเบื้องดินเผา และ 2) วัดนางพญา มีลักษณะแผนผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า  ประกอบไปด้วยวิหารประธาน 1 หลัง , อุโบสถ 1 หลัง , เจดีย์ประธาน 1 องค์และเจดีย์ราย 2 องค์    เจดีย์ประธานเป็นเจดีย์ทรงลังกาที่สร้างขึ้นเลียนแบบเจดีย์ประธานวัดช้างล้อม  วิหารประธานเป็นอาคารทึบขนาด 7 ห้อง  ก่อด้วยศิลาแลงหลังคาเป็นเครื่องไม้มุงกระเบื้องดินเผา  ผนังทึบเจาะช่องแสงเป็นลูกกรงสี่เหลี่ยม  ผิวปูนฉาบด้านนอกของวิหารประดับลายปูนปั้นอันวิจิตร  ที่แสดงให้เห็นถึงการรับอิทธิพลมาจากศิลปะล้านนา ( ลวดลายพันธุ์พฤกษาอันอ่อนช้อย ) และศิลปะจีน  ซึ่งลวดลายประดิษฐ์ต่างๆ เช่น ลายกรอบลูกฟัก , ลายรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนที่เกิดจากลาย “ยู่อี่” ประกอบกัน 4 อัน ( ยู่อี่ เป็นสัญลักษณ์มงคลของจีนที่พัฒนามาจากกระบี่สั้นที่ชาวจีนนิยมให้กันในวันมงคล มีความหมายว่า ขอให้สมหวังดังปรารถนา ) , ลายค้างคาว (สัญลักษณ์มงคลของจีน หมายถึง อายุขัยที่ยืนยาว )  แต่ลายค้างคาวที่วัดนางพญานี้ได้พัฒนาจากรูปค้างคาวมาเป็นลายกระหนกแล้วแต่ยังคงรักษารูปทรงของค้างคาวสยายปีกอยู่  ปัจจุบันลวดลายปูนปั้นบนผนังวิหารวัดนางพญาสามารถทำเงินรายได้ให้กับชาวอำเภอศรีสัชนาลัยเป็นจำนวนมาก  เนื่องจากช่างฝีมือท้องถิ่นได้คัดลอกลวดลายปูนปั้นแล้วนำไปพัฒนาทำเป็นลวดลายบนเครื่องประดับที่รู้จักกันในนาม "ทองโบราณศรีสัชนาลัย”

ภายหลังการเยี่ยมชมอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย นายกรัฐมนตรีและคณะเดินทางต่อไปยังโรงพยาบาลลับแล อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ เพื่อเยี่ยมชมโครงการคุณแม่วัยใส และเป็นประธานพิธีวางศิลาฤกษ์อาคารส่งเสริมสุขภาพและหอพักผู้ป่วย 4 ชั้น

------------------------------------

กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษก

นราวุธ สักลอ รายงาน

ธวัชชัย คุ้มคลองโยง ถ่ายภาพ

 

นายกรัฐมนตรีวางศิลาฤกษ์อาคารส่งเสริมสุขภาพและห้องพักผู้ป่วย 4 ชั้น โรงพยาบาลลับแล จ.อุตรดิตถ์

$
0
0
นายกรัฐมนตรีวางศิลาฤกษ์อาคารส่งเสริมสุขภาพและห้องพักผู้ป่วย 4 ชั้น โรงพยาบาลลับแล จ.อุตรดิตถ์

นายกรัฐมนตรี และคณะ ตรวจเยี่ยมโครงการคุณแม่วัยใส ณ อาคารส่งเสริมสุขภาพ (คลินิกใจสว่าง) และเป็นประธานในพิธีวางศิลาฤกษ์อาคารส่งเสริมสุขภาพและห้องพักผู้ป่วย 4 ชั้น

วันนี้ (20 ม.ค.56) เวลา 16.40 น. ณ โรงพยาบาลลับแล อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และคณะ ตรวจเยี่ยมโครงการคุณแม่วัยใส ณ อาคารส่งเสริมสุขภาพ (คลินิกใจสว่าง) และเป็นประธานในพิธีวางศิลาฤกษ์อาคารส่งเสริมสุขภาพและห้องพักผู้ป่วย 4 ชั้น โดยมีนายประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และข้าราชการกระทรวงสาธารณสุข อาสาสมัครสาธารณสุข  ให้การต้อนรับ

นายแพทย์กิตติพงศ์ อุบลสะอาด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลลับแลกล่าวรายงานว่า โรงพยาบาลลับแลเป็นโรงพยาบาลชุมชน ขนาด 30 เตียง เริ่มดำเนินการเมื่อปี พ.ศ.2535 มีประชากรในเขตรับผิดชอบ 62,203 คน ในปีงบประมาณ 2555 มีผู้ป่วยมารับบริการประเภทคนไข้นอก จำนวน 22,855 คน จำนวน 100,214 ครั้ง คิดเฉลี่ยจำนวนผู้ป่วยนอกมาใช้บริการจำนวน 313 รายต่อวัน ปัจจุบันมีผู้ป่วยมารับบริการจำนวนมากทำให้จำนวนเตียงที่มีอยู่ไม่เพียงพอในการให้บริการ และอาคารที่พักของบุคลากรมีไม่เพียงพอ เพื่อให้การบริการผู้ป่วยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ จึงได้ก่อสร้างอาคารส่งเสริมสุขภาพและพักผู้ป่วย 4 ชั้น ใช้งบประมาณในการก่อสร้าง จำนวน 44,899,200 บาท อาคารผู้ป่วยพิเศษ 20 ห้อง ใช้งบประมาณ จำนวน 11,600,000 บาท และอาคารพักพยาบาล ใช้งบประมาณ จำนวน 9,570,000 บาท โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาลในการก่อสร้างทั้งหมด

ผู้อำนวยการโรงพยาบาลลับแลกล่าวต่อไปว่า ในอนาคตต้องการให้โรงพยาบาลลับแลเป็นโรงพยาบาลทั่วไปให้บริการคู่ขนานกับโรงพยาบาลอุตรดิตถ์ ซึ่งมีปริมาณการให้บริการผู้ป่วยแออัด มีอาคารให้บริการที่จำกัดเกินความต้องการของผู้รับบริการ เพื่อเพิ่มช่องทางให้บริการผู้ป่วยเนื่องจากโรงพยาบาลลับแลมีเส้นทางการคมนาคมที่สะดวก มีถนนจำนวน 4 ช่องจราจรผ่านหน้าโรงพยาบาล

หลังจากนั้น นายกรัฐมนตรีได้ทำพิธีวางศิลาฤกษ์อาคารส่งเสริมสุขภาพและห้องพักผู้ป่วย 4 ชั้น จากนั้นนายกรัฐมนตรีได้เดินทักทายพบปะผู้นำชุมชน อสม. กลุ่มแม่บ้าน และประชาชนที่มาให้การต้อนรับอย่างเป็นกันเอง พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรีได้ตรวจเยี่ยมโครงการคุณแม่วัยใส ณ อาคารส่งเสริมสุขภาพ (คลินิกใจสว่าง) ซึ่งเป็นศูนย์บริการสำหรับคุณแม่วัยใส เน้นการบริการใน 3 รูปแบบ ได้แก่ ดำเนินงานป้องกันเชิงรุกในชุมชน สร้างเครือข่ายป้องกันปัญหาเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัยในกลุ่มวัยรุ่น ให้คำปรึกษารายบุคคลแบบ one stop service พร้อมประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้การช่วยเหลือ ติดตามเยี่ยมถึงบ้าน ให้คำแนะนำในการดูแลบุตร สนับสนุนด้านอาชีพ นมเลี้ยงเด็ก และการศึกษา โดยนายกรัฐมนตรีได้สอบถามความเป็นอยู่ทั่วไปของตัวแทนคุณแม่วัยใสอายุระหว่าง 15 – 17 ปี พร้อมกล่าวให้กำลังใจ ขอให้เข้มแข็งเดินหน้าต่อไป ดูแลลูกให้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพต่อไปในอนาคต และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยกันบูรณาการการทำงานให้ความช่วยเหลือปัญหาเด็กอย่างครบวงจรและเป็นระบบ

------------------------------------

กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษก

นราวุธ สักลอ รายงาน

ธวัชชัย คุ้มคลองโยง ถ่ายภาพ

 

นายกรัฐมนตรีสักการะอนุสาวรีย์พระยาพิชัยดาบหักก่อนเป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่จังหวัดอุตรดิตถ์

$
0
0
นายกรัฐมนตรีสักการะอนุสาวรีย์พระยาพิชัยดาบหักก่อนเป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่จังหวัดอุตรดิตถ์

นายกรัฐมนตรีพร้อมคณะสักการะอนุสาวรีย์พระยาพิชัยดาบหัก ณ อนุสาวรีย์พระยาพิชัยดาบหัก หน้าที่ว่าการองค์การบริหารส่วนจังหวัด อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์

 

วันนี้ (21 ม.ค.56) เวลา 07.50 น. ณ อนุสาวรีย์พระยาพิชัยดาบหัก หน้าที่ว่าการองค์การบริหารส่วนจังหวัด อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล นายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง และนายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ เลขาธิการนายกรัฐมนตรีสักการะอนุสาวรีย์พระยาพิชัยดาบหัก โดยมีคณะข้าราชการชั้นผู้ใหญ่จังหวัดอุตรดิตถ์ สภานักเรียนโรงเรียนอนุบาลอุตรดิตถ์ และสภานักเรียนโรงเรียนแกนนำเครือข่ายคุณภาพประชาธิปไตย คณะครู เจ้าหน้าที่ พร้อมประชาชนมาให้การต้อนรับ

เมื่อนายกรัฐมนตรีเดินทางมาถึงอนุสาวรีย์พระยาพิชัยดาบหัก นายกรัฐมนตรีเข้าสักการะและคล้องพวงมาลัยอนุสาวรีย์พระยาพิชัยดาบหัก หลังจากนั้นนายกรัฐมนตรีได้พบปะพูดคุยกับสภานักเรียนโรงเรียนอนุบาลอุตรดิตถ์ และสภานักเรียนโรงเรียนแกนนำเครือข่ายคุณภาพประชาธิปไตย โดยตัวแทนนักเรียนอนุบาลอุตรดิตถ์ได้อ่านคำกลอนให้นายกรัฐมนตรีซึ่งมีใจความว่า “มอบจากใจให้นางฟ้ายิ่งลักษณ์ ยินดีต้อนรับนางฟ้านายกฯหญิง ผู้เก่งจริงเรื่องงานการสร้างสรรค์ ขอต้อนรับสู่ดินแดนมหัศจรรย์ แดนสวรรค์อุตรดิตถ์เมืองลับแล” พร้อมกล่าวขอบคุณนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลที่มอบแท๊บเล็ตให้กับนักเรียนได้นำมาใช้ประกอบการเรียนหนังสือ เสริมสร้างทักษะให้กับเด็กนักเรียน

หลังจากนั้นนายกรัฐมนตรีได้เดินพบปะประชาชนที่มาให้การต้อนรับอย่างเป็นกันเอง ก่อนเดินทางมายังมหาวิทยาลัยราชภัฎอุตรดิตถ์ เพื่อพบปะและเยี่ยมชมการดำเนินการให้นักศึกษาผู้ยื่นคำขอรับสินเชื่อกองทุนตั้งตัวได้ และชมบูธของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐที่เข้าร่วมโครงการ ณ หน้าอาคาร ICIT มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์  จังหวัดอุตรดิตถ์ และเป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 1/2556 ณ Conference Room 1 ชั้น 4 อาคาร ICIT มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ จังหวัดอุตรดิตถ์

----------------------------------------

กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษก

นราวุธ รายงาน

สุนิสา ถ่ายภาพ

 

นายกรัฐมนตรี เปิด “กองทุนตั้งตัวได้” มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ อย่างเป็นทางการ

$
0
0
นายกรัฐมนตรี เปิด “กองทุนตั้งตัวได้” มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ อย่างเป็นทางการ

นายกรัฐมนตรี เปิด “กองทุนตั้งตัวได้” มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ อย่างเป็นทางการ ซึ่งเป็น 1 ใน 3 ของสถานศึกษานำร่องการดำเนินโครงการดังกล่าวของรัฐบาล

 

วันนี้ (21ม.ค.56) เวลา 08.30 น. ณ หน้าอาคาร ICIT มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์  จังหวัดอุตรดิตถ์ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้เป็นประธานเปิด “กองทุนตั้งตัวได้” มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ อย่างเป็นทางการ ซึ่งเป็น 1 ใน 3 ของสถานศึกษานำร่องการดำเนินโครงการดังกล่าว พร้อมพบปะและเยี่ยมชมการดำเนินการให้นักศึกษาผู้ยื่นคำขอรับสินเชื่อกองทุนตั้งตัวได้ ซึ่งเป็นโครงการของรัฐบาลที่ร่วมกับบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บยส.) และสถาบันการเงินของรัฐ 5 แห่ง  คือ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารออมสิน ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทยดำเนินการขึ้น เพื่อใช้เป็นแหล่งเงินทุนในการปล่อยกู้ให้นักศึกษาจากสถาบันการศึกษาที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับอุดมศึกษาและอาชีวศึกษาที่สำเร็จการศึกษาไม่เกิน 5 ปี ซึ่งมีทักษะและต้องการเป็นเจ้าของกิจการ แต่ขาดทุนทรัพย์ ให้มีเงินทุนสามารถนำไปประกอบอาชีพอิสระ วงเงินกู้สูงสุดไม่เกินรายละ 3 ล้านบาท รวมทั้งเยี่ยมชมบูธและนิทรรศการของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ดังกล่าวที่เข้าร่วมโครงการด้วย

นายโอฬาร ไชยประวัติ ประธานกรรมการบริหารกองทุนฯ ได้กล่าวรายงานผลการดำเนินงานของกองทุนตั้งตัวได้ ว่า หลังจากที่ได้มีการเปิดกองทุนตั้งตัวได้เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2555 ที่ผ่านมานั้น ขณะนี้การดำเนินการได้มีความคืบหน้า ดังนี้ 1. การดำเนินการสำนักงานกองทุนตั้งตัวได้ ได้มีผู้อำนวยการแล้ว และอยู่ระหว่างการเตรียมการเพื่อให้เกิดสำนักงาน 2. การประสานงานกับธนาคารรัฐ ซึ่งได้มีการลงนามในบันทึกช่วยจำ และมีการกำหนดรายละเอียด ในการกู้ยืมแก่ผู้ประกอบการเรียบร้อยแล้ว 3. การดำเนินการหน่วยบ่มเพาะวิสาหกิจในสถานศึกษา ซึ่งมี 2 ระดับ คือ ระดับนำร่องแลระดับจริง นั้น ขณะนี้มี 3 สถาบันการศึกษาที่พร้อมจะเป็นหน่วยบ่มเพาะวิสาหกิจนำร่องแล้ว ได้แก่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ส่วนการสนับสนุนผู้ประกอบการ โดยผ่านหน่วยบ่มเพาะในสถานศึกษานั้น ปัจจุบันได้นักศึกษา จำนวน 7 โครงการที่มีความพร้อมในการจะเข้าขออนุมัติสินเชื่อกับธนาคารของรัฐ และสำนักงานกองทุน ซึ่งมีนักศึกษา จากมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ 3 ราย ซึ่งทำธุรกิจด้านร้านอาหารสมัยใหม่ในห้างการค้าสมัยใหม่ การพิมพ์ในรูปแบบ digital และการทำผักดองในรูปแบบที่ทันสมัย และจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี 4 ราย คือ การทำเครือข่ายอินเตอร์กับโรงพยาบาลหรือโรงแรม การทำอาหารกึ่งสำเร็จรูป การทำ application ในโทรศัพท์ และการกำจัดขยะ เป็นต้น

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรี และตัวแทนสถาบันการเงินของรัฐได้รับข้อเสนอแผนธุรกิจโครงการ "กองทุนตั้งตัวได้ มรอ." ของผู้ประกอบการที่ทำแผนธุรกิจผ่านและอยู่ระหว่างการอนุมัติเงินทุนจากสถาบันการเงินของรัฐที่เข้าร่วมโครงการ จำนวน 2 ราย คือ นางสาวกฤตยา กองบัว เจ้าของกิจการร้านอาหารญี่ปุ่น และนางสาวอทิตยา ชัยมงคลสกุล เจ้าของกิจการร้านป้ายไวนิล ชันนี่ดีไซน์ ทั้งนี้คาดว่าทั้งสองรายจะได้รับการอนุมัติเงินทุนจากสถาบันการเงินของรัฐฯ เพื่อนำไปประกอบกิจการและต่อยอดธุรกิจของตนเองต่อไป

ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจสามารถขอรับการสนับสนุนการประกอบธุรกิจจากกองทุนตั้งตัวได้ โดยสมัครได้ที่หน่วยบ่มเพาะวิสาหกิจในสถาบันอุดมศึกษา 56 แห่งทั่วประเทศ หรือที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา หมายเลขโทรศัพท์ 0-2 610-5444

------------------------------

กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษก

 

ครม. เห็นชอบมาตรการการป้องกันไฟป่าและหมอกควันประจำปี 2556

$
0
0
ครม. เห็นชอบมาตรการการป้องกันไฟป่าและหมอกควันประจำปี 2556

ที่ประชุมมีมติเห็นชอบมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษจากหมอกควันภาคเหนือ 9 จังหวัด ปี 2556 เพื่อให้เกิดความเรียบร้อย พร้อมทั้ง เกิดการบูรณาการ มีผู้รับผิดชอบ และเกิดผลในทางปฏิบัติอย่างแท้จริง

 วันนี้ (21ม.ค.56) เวลา 09.00 น. ณ Conference Room 1 ชั้น 4 อาคาร ICIT มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 1/2556   โดยในที่ประชุมมีมติเห็นชอบมาตรการป้องกันไฟป่าและหมอกควันประจำปี 2556 เพิ่มเติม  และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการในส่วนที่ได้รับมอบหมาย ตามที่รองนายกรัฐมนตรี   (นายปลอดประสพ สุรัสวดี) เสนอ เพื่อให้การดำเนินงานตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษจากหมอกควันภาคเหนือ 9 จังหวัด ปี 2556 เป็นไปด้วยความเรียบร้อย เกิดการบูรณาการ มีผู้รับผิดชอบ และเกิดผลในทางปฏิบัติอย่างแท้จริง
   สาระสำคัญของมาตรการ
   1. ไม่มีการเผา
   2. ใช้แนวทาง Area Approach มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้รับผิดชอบ (Forward Command)
   3. ใช้ระบบ Single Command โดยกลไกของกระทรวงมหาดไทย ตาม พรบ. ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
   4. มอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรี (นายปลอดประสพ สุรัสวดี) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นฝ่ายอำนวยการและควบคุมการสั่งการระดับประเทศ 
   5. เบื้องต้นครอบคลุมเพียง 9 จังหวัดภาคเหนือ ใช้ระยะเวลาประมาณ 3 เดือนครึ่ง (มกราคม-เมษายน 2556)
  การมอบหมายงาน   (สามารถดาวน์โหลดไฟล์)

Viewing all 1192 articles
Browse latest View live




Latest Images